รัฐบาลระบุสิ้นปี 54 มีหนี้สาธารณะแค่ 43.7%
15 มิ.ย. - นายมารุต มัสยวาณิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 54 ครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งปรับลดวงเงินลดลง 33,380.13 ล้านบาท จากการปรับปรุงแผนครั้งที่ 1 ที่มีวงเงิน 1,291,504.27 ล้านบาท เหลือ 1,258,124.14 ล้านบาท ส่งผลให้สิ้นปีงบประมาณ 54 จะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 43.7% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ในระดับ 10.5% โดยกระทรวงการคลังระบุว่าขอปรับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจาก เดิม 420,000 ล้านบาท ลดลง 50,000 ล้านบาท เหลือ 370,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการรายได้จนทำให้จัดเก็บรายได้ สูงกว่าประมาณการ 100,000 ล้านบาท ทำให้มีความจำเป็นต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลลดลง แม้มีผลกระทบจากการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลซึ่งทำให้เงินรายได้ลดลง ประมาณ 45,000 ล้านบาท ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนการก่อหนี้ใหม่ในประเทศในส่วนของแผนเงินกู้เพื่อลงทุนของรัฐ วิสาหกิจ กระทรวงการคลังได้ขอปรับเพิ่มวงเงินขึ้น 515.90 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 26,263.74 ล้านบาทเป็น 26,779.64 ล้านบาท ขณะที่แผนเงินกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่นๆ ได้ปรับเพิ่มขึ้นอีก 16,103.97 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 33,395.21 ล้านบาทเพิ่มเป็นวงเงิน 49,499.18 ล้านบาท โครงการที่ใช้เงินกู้เพิ่มขึ้นที่สำคัญเช่น เงินกู้ชดเชยมาตรการลดค่าครองชีพของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ให้ประชาชนใช้ไฟฟรีไม่เกิน 90 หน่วย ขอปรับเงินเพิ่ม 541.35 ล้านบาท จาก 1,078.83 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,620.18 ล้านบาท, เงินกู้เพื่อชดเชยมาตรการลดค่าครองชีพของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขอปรับเพิ่มอีก 3,059.53 ล้านบาท จากเดิม 10,100 ล้านบาท เพิ่มเป็น 13,159.53 ล้านบาท
ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับเพิ่มวงเงินกู้มาตรการลดค่าครองชีพขึ้น 243.679 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องอีก 6,278 ล้านบาท จากเดิมที่ไม่ได้ตั้งวงเงินกู้สำหรับส่วนนี้ไว้ ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขอปรับเพิ่มในส่วนของเงินกู้ชดเชยมาตรการลดค่าครองชีพวงเงิน 1,285.095 ล้านบาท จากเดิม 1,864.35 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3,149.445 ล้านบาท ด้านองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ขอวงเงินกู้ สำหรับนำไปใช้ตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกในราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง ปี 2553/2554 แห่งละ 2,500 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยได้ตัดวงเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 6,000 ล้านบาทออกไป ที่กำหนดไว้เป็นวงเงินสำหรับรับจำนำสินค้าเกษตร โดยกระทรวงการคลังระบุว่าปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเป็นการประกันราคา จึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินสำหรับโครงการนี้อีก - สำนักข่าวไทย