อย.เตือนอย่าลักลอบผลิตจำหน่ายปลาปักเป้า
น.พ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงกรณีมีข่าวการลักลอบจำหน่ายปลาปักเป้า ซึ่งสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ขอให้ อย. ออกมาตรการให้สามารถนำปลาปักเป้า สายพันธุ์ไม่มีพิษมาจำหน่ายได้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นการปิดช่องไม่ให้มีผู้หาผลประโยชน์ เรียกรับสินบนจากโรงแล่ นั้น อย. ชี้แจงว่า ในเรื่องการกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้ปลาปักเป้าทุกชนิด และอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2545 เนื่องจาก อย. ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก ทั้งนี้ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 89 คน เสียชีวิต 24 คน ดังนั้นจึงมีความจำเป็น ต้องมีมาตรการในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดซึ่งปลาปักเป้า มีอยู่หลายชนิดทั้งมีพิษและไม่มีพิษ เมื่อแล่เป็นเนื้อปลาแล้ว จะไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นชนิดที่มีพิษหรือไม่ จึงเสี่ยงต่อการนำมาบริโภค เนื่องจากการบริโภคปลาปักเป้าทางผู้บริโภคอาจได้รับสารพิษเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) หากได้รับสารพิษนี้ปริมาณเพียง 2 มิลลิกรัม ก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือหากได้รับในปริมาณต่ำ จะเกิดอาการชาที่ริมฝีปาก มือ และเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต หายใจขัด ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถเกิดได้ภายใน 10-45 นาที และสารพิษดังกล่าว สามารถทนความร้อนได้สูง การต้ม ทอด หรือย่าง ไม่สามารถทำลายสารพิษนี้ได้ และขณะนี้ยังไม่มียาใดสามารถรักษาพิษดังกล่าว ได้หากผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนประกาศฯ ดังกล่าว ลักลอบผลิต/นำเข้า/จำหน่ายปลาปักเป้า และอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม หากถูก
ตรวจจับจะดำเนินการตามกฎหมายทันที ซึ่งจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท