แรงงาน 5.5 ล้านคนอยู่ในข่ายจะได้ขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท
(6 ก.ย.) นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนางจิราภรณ์ เกษรสุจริต อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถึงการเดินหน้านโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ล่าสุดวานนี้ (5 ก.ย.) กระทรวงแรงงานแจ้งว่า มีแรงงานที่ทำงานในโรงงาน ภาคการค้า และบริการ ที่อยู่ในข่ายจะได้ขึ้นค่าแรงประมาณ 5.5 ล้านคน
ในขณะที่ ส.อ.ท.แจ้งให้กระทรวงแรงงานทราบว่า ส.อ.ท.เห็นด้วยกับการดูแลแรงงาน แต่ต้องการให้มาตรการปรับขึ้นค่าแรงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการน้อยที่สุด โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และต้องการให้มีระยะเวลาปรับตัวในการปรับขึ้นค่าแรง 3-4 ปี เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงค่าแรงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนั้นการปรับขึ้นค่าแรงจะเป็นไปตามกลไกตลาดได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานยังไม่ให้คำตอบชัดเจนว่าจะเป็นไปตามที่ ส.อ.ท.ร้องขอหรือไม่
นอกจากนี้ ส.อ.ท. และกระทรวงแรงงานยังมีความเห็นเบื้องต้นที่จะทำงานร่วมกันในการพัฒนาความพร้อมของแรงงาน โดยหากแรงงานที่เข้าทำงานอยู่เดิมแล้ว กลุ่มนี้จะจัดให้มีชุดมาตรการพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่วนแรงงานใหม่ที่จะเข้ามาจะได้รับการเตรียมความพร้อม เช่น การปฐมนิเทศ 5-7 วัน และการเตรียมความพร้อมอื่น ๆ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะร่วมกับ ส.อ.ท.จัดทำมาตรการนี้ต่อไป ส่วนในแง่ของการเพิ่มศักยภาพแรงงานจะเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการในระยะกลาง เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลา
ด้านความหมายของรายได้ ทางกระทรวงแรงงานและ ส.อ.ท.ยังให้ความหมายที่ต่างกันอยู่บ้าง โดยกระทรวงแรงงานมองเป็นค่าจ้างรายวัน ในขณะที่ ส.อ.ท.มองรวมถึงการจัดสวัสดิการที่ให้กับแรงงานในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย เพราะเห็นว่าผู้ประกอบการหลายรายที่มีการให้สวัสดิการอยู่แล้ว หากต้องปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท เท่ากับผู้ประกอบการรายที่ไม่จัดสวัสดิการให้แรงงานจะทำให้การปรับขึ้นค่าแรงทำได้ยากกว่า ซึ่ง ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยหากจะมีการปรับลดสวัสดิการที่ให้แก่แรงงาน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันในการปรับขึ้นค่าจ้างขณะนี้ลดน้อยลงแล้ว เนื่องจากประเทศไทยยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน
นายพยุงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส.อ.ท.แจ้งกับกระทรวงแรงงานว่าต้องการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีหากต้องปรับขึ้นค่าจ้างแก่แรงงาน โดยขอหารือกระทรวงแรงงานช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้นไปหักลดหย่อนรายจ่ายต่าง ๆ ได้ แต่เรื่องนี้จะต้องศึกษาว่าในทางกฎหมายสามารถทำได้มากน้อยเพียงใดและจะได้รับความเห็นชอบหรือไม่
นายพยุงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในอีก 2 สัปดาห์จากนี้ไป ส.อ.ท.จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงความยินดีและรับทราบแนวทางการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน และรับทราบนโยบายการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท. - สำนักข่าวไทย