ปธ.คอนธ.ออกแถลงการณ์ไม่จุ้นนิรโทษกรรม

ปธ.คอนธ.ออกแถลงการณ์ไม่จุ้นนิรโทษกรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์กรอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอนธ. ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ http://ukrit-mongkolnavin.com หลังได้รับการแต่งตั้ง จำนวน 10 ข้อ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการระบุถึงแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยจะมีการพิจารณาบุคคลที่จะมาร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 12 คน มีหลักการพิจารณาจากนักวิชาการทางกฎหมาย และนักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป อาทิ คณบดี และอดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกนั้นจะเชิญนักกฎหมายอาวุโส
ที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง มีตำแหน่งทางวิชาการในระดับศาสตราจารย์ ร่วมเป็นคณะกรรมการ และคณะกรรมการ "คอนธ." จะไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการชุดของ ดร.คณิต ณ นคร เนื่องจากเป็นกรรมการอิสระทั้ง 2 คณะ ที่มีภารกิจต่างกัน นอกจากนี้ คณะกรรมการ "คอนธ." จะไม่ประชุมพิจารณาเรื่องที่มีองค์กรส่วนอื่นๆ และภาคประชาชน ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรม หรือ การพิจารณาเรื่องที่ดินรัชดาฯ ที่จะเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามในแถลงการณ์ข้อที่ 3 ระบุว่า ระหว่างนี้จะเดินทางไปต่างประเทศ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งได้มีกำหนดเดินทางล่วงหน้าประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการ คอนธ. โดยหลังกลับจากต่างประเทศ ก็จะได้เริ่มดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป


แถลงการณ์ 10 ข้อ
ข้อ 1. ได้ทราบว่า ครม. มีมติวางระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักนิติธรรม แห่งชาติ พ.ศ. 2554 เพื่อจัดตั้ง องค์กรอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตาม รัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ เป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง โดยมุ่งหมายให้เกิดความเป็นธรรม ความชอบธรรม และความเสมอภาคของบุคคล ในสังคม เพื่อให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค ตลอดจนได้รับความ ยุติธรรมตามระบบกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติที่เกิดจาก อคติต่างๆ ของผู้ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ในการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ กรรมการคณะนี้มีชื่อย่อว่า คอนธ.

ข้อ 2. ในขั้นตอนนี้เป็นการวางระเบียบเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการ คอนธ. ขึ้นเพื่อกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่การทำงาน ของคณะกรรมการ

ข้อ 3. ระหว่างนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน จะเดินทางไปต่างประเทศ ประมาณ 2 สัปดาห์ โดยมีนัดหมายล่วงหน้ามาก่อนประมาณ 1 ปี เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการ คอนธ. และกลับจากต่างประเทศแล้วจะได้เริ่มดำเนินการต่อไป

ข้อ 4. งานสำคัญงานแรกได้แก่การพิจารณาบุคคลที่จะมาร่วมเป็นกรรมการ จำนวนไม่เกิน 12 คน โดยมีหลักการพิจารณาจากนักวิชาการทางกฎหมาย และนักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ได้แก่ คณบดี และอดีตคณะบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกนั้นจะเชิญนักกฎหมายอาวุโสที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง มีตำแหน่งทางวิชาการในระดับศาสตราจารย์ มาร่วมเป็นคณะกรรมการ

ข้อ 5. ประธานกรรมการฯ มีอิสระในการแต่งตั้งคณะกรรมการ โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลแนวทางการทำงานจะขอให้กรรมการแต่ละท่านจัดตั้งคณะอนุกรรมการตามจำนวนที่สมควร และตามความจำเป็นจากอาจารย์ทางกฎหมายของมหาวิทยาลัยที่มีคุณวุฒิระดับปริญญาเอก ทั้งชายและหญิง ซึ่งยึดมั่นในหลักนิติธรรมในการสอนกฎหมายแก่นิสิต-นักศึกษา และไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ข้อ 6. ภารกิจของคณะกรรมการ " คอนธ. " จะไม่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการ ชุด ดร.คณิต ณ นคร โดยเป็นกรรมการอิสระทั้ง 2 คณะที่มีภารกิจต่างกัน

ข้อ 7. คณะกรรมการ " คอนธ. " จะไม่ประชุมพิจารณาเรื่องที่มีองค์กรส่วนอื่นๆและภาคประชาชนดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรม หรือ การพิจารณาเรื่องที่ดินรัชดาฯ ที่จะเกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ข้อ 8. คณะกรรมการจะเผยแพร่การทำงานในรูปแบบการให้ความรู้แก่ประชาชน และบุคคลทุกฝ่ายให้มีความเข้าใจในหลักนิติธรรม ที่ยอมรับนับถือทั่วไปในประเทศ และต่างประเทศ

ข้อ 9. ผลงานของคณะอนุกรรมการทุกคณะเมื่อเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ของ คณะกรรมการและอนุกรรมการแล้วจะได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่เป็นหลัก และ เป็นแนวทางว่าด้วย " กฎหมายและการกระทำที่ชอบด้วยหลักนิติธรรม "

ข้อ 10. ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน จะยึดมั่นในปณิธานที่ตั้งไว้เมื่ออายุครบ 60 ปี " ทิ้งการเมือง แต่ไม่ทิ้งบ้านเมือง" บัดนี้เมื่อบ้านเมืองมีปัญหาและเป็นปัญหาที่กระทบกับประชาชนทั้งประเทศ จึงไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้โดยการทำงานนี้ จะไม่มีประโยชน์ตอบแทนแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งทางการเมือง หรือเงินตำแหน่ง เงินค่าตอบแทนใดๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook