พนังกั้นน้ำชีแตกในกาฬสินธุ์ อีสานเริ่มวิกฤต
21 ต.ค. - สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่แถบภาคอีสานเริ่มวิกฤติ พนังดินกั้นน้ำแม่น้ำชีที่กาฬสินธุ์แตก ปริมาณน้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร
วิกฤติหนักหลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนอุบลรัตน์ ที่ขอนแก่น ยังเร่งระบายน้ำวันละ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร มีผลให้พนังดินช่วงหลักกิโลเมตรที่ 21-22 เขต ต.ธัญญา ถูกกระแสน้ำกัดเซาะถึง 4 จุด แม้เจ้าหน้าที่จะเร่งอุดรอยแตก แต่ไม่เป็นผล กระแสน้ำแรง เครื่องจักรกลหนักเข้าไปไม่ถึง น้ำแม่น้ำชีทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 1,500 หลัง นาข้าวกว่า 100,000 ไร่จมน้ำ ล่าสุดผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ สั่งระดมอุดรอยแตกตลอด 24 ชั่วโมง
เทศบาลนครนครสวรรค์เจาะท่อระบายน้ำใต้ดิน เพื่อให้น้ำที่ท่วมขังภายในศูนย์ราชการจังหวัด และ 13 ชุมชน รอบบริเวณ ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดทำสำเร็จ ระดับน้ำบนผิวถนนลดเหลือ 20 เซนติเมตร ส่วนถนนหน้าเรือนจำกลาง ตลาดปากน้ำโพ มีน้ำท่วมขังเล็กน้อย แต่การจราจรถนนสายเอเชียที่สะพานเดชาติวงศ์ติดขัดหนัก
แม้ระดับน้ำลดลง แต่ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยาไม่วางใจ ปรับแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหา กำจัดขยะ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สถานที่ราชการ มอบให้แขวงการทางฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำเสาเข็ม กล่องบรรทุกหิน มาวางป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง จะเริ่มดำเนินการบนถนนสายเอเชียกิโลเมตรที่ 9-12 และ 20-36 พร้อมชะลอน้ำในคลองข้าวเม่าและคลองสาคู เพื่อให้การเดินทางสะดวก
ชาวบ้าน อ.บางคล้า ฉะเชิงเทรา เริ่มได้รับผลกระทบ เพราะเป็นทางผ่านน้ำ รับน้ำมาจาก อ.บ้านสร้าง อ.ศรีมโหสถ ปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ที่ระบายลงคลองท่าลาด ไหลลงแม่น้ำบางปะกง ล่าสุด ระดับน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านใช้ชีวิตยากลำบากมาเกือบ 1 เดือน และบางจุดต้องใช้เรือสัญจร - สำนักข่าวไทย