ยิ่งลักษณ์ ย้ำไม่อ่อนแอ-นิ่งนอนใจแก้น้ำท่วม
2 พ.ย. - นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่ได้อ่อนแอในการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ต้องแก้ปัญหาให้เกิดความสมดุลและต้องดูแลทั้งระบบ พร้อมยืนยันจะเดินทางไปร่วมประชุมเอเปกที่สหรัฐ 12-15 พ.ย. เพื่อชี้แจงผู้นำประเทศต่างๆ ที่มาลงทุนในไทยให้เกิดความมั่นใจ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ที่มีตัวแทนของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรุงเทพมหานคร จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการปิด-เปิดประตูระบายน้ำ รวมถึงผลกระทบที่จะส่งผลต่อพื้นที่อื่น รวมทั้งการทำความเข้าใจกับประชาชนได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับความจริงว่าประชาชนเกิดความเครียดและไม่รู้ว่าน้ำจะลดลงเมื่อไร ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหา ไม่ได้ละเลย ละทิ้ง หรือไม่กล้าตัดสินใจ รวมทั้งไม่ได้อ่อนแอ เพียงแต่ต้องแก้ไขปัญหาด้วยการรักษาสมดุลและดูแลทั้งระบบ
"ในการแก้ปัญหา รัฐบาลไม่ได้ต้องการใช้อำนาจกฎหมายมาบังคับเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำตามขั้นตอน ที่ผ่านมาก็มีการประกาศใช้มาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาดูแลแล้ว ซึ่งต้องมีการหารือถึงมาตรการต่อไปในการทำงาน เพราะปัญหามีทั้งเรื่องมวลชนและเรื่องเทคนิคการระบายน้ำ อย่างที่ประตูระบายน้ำคลองสามวาก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูว่า จะเปิด-ปิดประตูระบายน้ำได้ระดับไหน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบ ซึ่งคณะทำงานก็ต้องไปดูรายละเอียด" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่าสำหรับประตูระบายน้ำที่เสียหายทาง กทม.รับปากว่า จะเข้าไปซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ โดยรัฐบาลได้ส่งตำรวจไปดูแล ไม่ให้ประชาชนเข้าไปขัดขวาง และต้องขอความร่วมมือประชาชนให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วย โดยคำนึงถึงภาพรวม และไม่ต้องการให้ประชาชนเกิดการกระทบกระทั่ง ที่ผ่านมาได้เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอย่างเต็มที่ ซึ่งจากข้อมูลน้ำทะเลจะลดลงเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งต้องเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล
ส่วนการดูแลพื้นที่ กทม.ชั้นในนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการระบายน้ำในฝั่งตะวันออกดีขึ้น น้ำน่าจะทรงตัว แต่ในส่วนของฝั่งตะวันตก ซึ่งนอกจากมีมวลน้ำแล้ว ยังพบว่าประตูระบายน้ำมีรอยแตกมากถึง 7 กิโลเมตร เนื่องจากน้ำไหลแรงมาก แต่ได้เตรียมการซ่อมแซมแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มซ่อมได้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน และแล้วเสร็จช่วงกลางเดือน ขณะเดียวกัน มั่นใจว่าจะสามารถดูแลพื้นที่ กทม.ชั้นในได้ แต่ไม่ยืนยันชัดเจนว่า กี่เขตและพื้นที่ใดบ้าง ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าการระบายน้ำในฝั่งธนบุรีค่อนข้างที่จะช้า หากเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่ต่างประเทศวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลว่า ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้เชิญทูตมาทำความเข้าใจแล้ว และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ก็ได้เรียกความเชื่อมั่นในการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ยอมรับว่า การระบายน้ำค่อนข้างมีปัญหา เพราะตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น้ำในเขื่อนต่าง ๆ ก็เต็มหมดแล้ว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่าจะเดินทางไปร่วมประชุมเอเปก 2011 ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 12-15 พฤศจิกายนนี้ โดยจะไปทำความเข้าใจชี้แจง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และสาเหตุที่ไม่ได้ลงพื้นที่ในช่วงนี้ เนื่องจากต้องทำแผนเรื่องฟื้นฟูให้แล้วเสร็จก่อนเดินทางไปต่างประเทศ และเชื่อว่าก่อนเดินทางไป สถานการณ์น้ำน่าจะดีขึ้นแล้ว
ส่วนความเป็นไปได้ในการตั้งกระทรวงน้ำขึ้นมาดูแลปัญหาภาพรวมทั้งหมดนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเป็นข้อเสนอหนึ่งที่พร้อมรับฟัง แต่สิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการในขณะนี้คือ การทำมาสเตอร์แพลน ระดมนักวิชาการวางแนวทางแก้ปัญหา เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อถามว่า หลังจากการแก้ปัญหาน้ำเสร็จสิ้นจะมีการปรับ ครม.หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าขอดูก่อน ขณะเดียวกัน ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการสไกป์คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม - สำนักข่าวไทย