ผู้ว่าฯ กทม.เป็นห่วงรื้อคันกั้นทำน้ำท่วมข้ามปี
18 พ.ย. - ผู้ว่าฯ กทม.ลงพื้นที่คลองหกวาล่าง ห่วงการรื้อแนวคันกั้นน้ำทำให้น้ำท่วม กทม.ขยายวงกว้างมากขึ้น โดยจะน้ำทะลักเข้าพื้นที่วันละ 4 ล้าน ลบ.ม. ส่วนพื้นที่ถูกน้ำท่วมอยู่แล้ว ก็อาจทำให้การระบายน้ำช้า ประชาชนต้องทนอยู่กับสภาพน้ำท่วมไปถึงต้นปีหน้า
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะผู้บริหาร กทม.ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณถนนสุขาภิบาล 5 พื้นที่เขตสายไหม ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมานานกว่า 2 สัปดาห์ และเป็นพื้นที่ที่ กทม.ประกาศให้เป็นพื้นที่อพยพทั้งเขต จากการตรวจสอบระดับน้ำบนพื้นผิวถนนตลอดทั้งเส้นทาง พบว่าระดับน้ำลดลงมากจนเหลือประมาณ 20-40 เซนติเมตร รถยนต์กระบะขนาดเล็กเริ่มสัญจรไป-มาได้
จากนั้นเดินทางไปดูที่ประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ช่วงวัดหนองใหญ่ พบว่าระดับน้ำสูงและเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากคลองดังกล่าวรับน้ำมาจากคลองหกวาสายล่าง โดยล่าสุดมีการเปิดประตูระบายน้ำที่ระดับ 1.05 เมตร น้ำเหนือเขื่อนมีความสูง 2.35 เมตร ขณะที่น้ำใต้เขื่อนสูง 1.90 เมตร ต่อมาผู้ว่าฯ กทม.ได้ลงพื้นที่ตรวจแนวคันกั้นน้ำบริเวณคลองหกวาสายล่างจุดที่ชาวบ้านจาก จ.ปทุมธานี ได้รื้อแนวกระสอบทรายเป็นแนวยาวกว่า 70 เมตรเมื่อวานนี้ พบว่าแนวกระสอบทรายที่ถูกรื้อได้รับการซ่อมแซมจากชาวบ้านย่านสายไหมแล้ว
ทั้งนี้ ระหว่างลงพื้นที่ ชาวบ้านเขตสายไหมที่ได้รับผลกระทบเข้าร้องเรียนกับผู้ว่าฯ กทม. โดยขอไม่ให้มีการรื้อแนวกระสอบทรายเพิ่มเติม เพราะทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นบ้านเช่า ไม่มีทะเบียนบ้าน ทำให้ไม่ทราบว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ โดยผู้ว่าฯ กทม.รับปากจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวเสนอต่อ ผอ.ศปภ. และกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการรื้อแนวกระสอบทราย เพราะจะทำให้น้ำไหลเข้ามาเพิ่มเติมในพื้นที่ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน และทำให้ยากต่อการระบายน้ำ อาจจะใช้ระยะเวลานานไปถึงปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จะยังเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ที่ 1.05 เมตร และจะประเมินสถานการณ์ภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับวันพรุ่งนี้ที่จะมีการเจรจาร่วมกันระหว่างชาวบ้านและตัวแทนจาก ศปภ.นั้น ตนจะไม่มาเข้าร่วมเจรจาครั้งนี้ด้วย แต่จะส่งข้าราชการประจำเข้ามาหารือแทน เพราะไม่อยากให้ถูกมองว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และยอมรับว่าเป็นห่วงทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นชาว กทม.หรือชาวปทุมธานี จึงอยากให้ทุกฝ่ายใช้เหตุผลเพื่อหาทางออกร่วมกัน - สำนักข่าวไทย