ผุดไอเดียใหม่ ย้ายรัฐสภาใหม่ไปปากเกร็ด
8 ม.ค. - เจริญ จรรย์โกมล เสนอล้มการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย ผุดไอเดียสร้างที่ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เหตุปัญหาหลายอย่างเกรงล่าช้า
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวว่า จากการเข้าไปติดตามการก่อสร้างโครงการดังกล่าว พบปัญหาหลายอย่าง ส่งผลให้การย้ายชุมชนและสถานที่ราชการ รวมทั้งการก่อสร้างล่าช้า โดยเฉพาะการย้ายและก่อสร้างโรงเรียนโยธินบูรณะ ที่มีการของบประมาณก่อสร้างเพิ่มเติม จากเดิมที่ 1,000 ล้านบาท เป็นขอเพิ่มอีก 600 ล้านบาท โดยโรงเรียนจะนำงบที่เกินจากข้อตกลงไปสร้างโรงอาหาร อาคารที่จอดรถ และสนามฟุตบอล จึงไม่มั่นใจว่ากระทรวงศึกษาธิการจะอนุมัติหรือไม่ หากไม่อนุมัติจะส่งผลให้การย้ายของโรงเรียนดังกล่าวมีปัญหา
นายเจริญ กล่าวว่า คณะกรรมการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ได้ทำเรื่องขอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ย้ายสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปอีก 400 เมตร เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพของรัฐสภาแห่งใหม่ แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ที่สำคัญหากใช้พื้นที่เกียกกาย ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เกรงว่าในอนาคตอาจประสบปัญหาน้ำท่วมได้
"ผมเห็นว่า หากต้องการให้การสร้างรัฐสภาใหม่ เป็นไปตามกรอบระยะเวลาเดิม 900 วัน จึงจะเสนอขอให้ย้ายสถานที่ก่อสร้างอาคารัฐสภาแห่งใหม่ไปที่ที่เหมาะสมกว่า เช่น ที่ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่บินสำรวจพื้นที่ทางอากาศ ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และขอยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าว ไม่ได้เป็นการเช็กบิล หรือรื้อโครงการที่นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งมาจากพรรคภูมิใจไทยเป็นผู้ดำเนินการ" นายเจริญ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายเจริญ ได้ระงับการเปิดประมูลก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ออกไปไม่มีกำหนด แม้จะมีการคัดเลือกคุณสมบัติ เบื้องต้นมีบริษัทที่ผ่านการพิจารณา 4 บริษัท คือ บริษัท อิตาเลียนไทย บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น บริษัทเพาเวอร์ไลน์ และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง โดยขอเวลา 1 ปี เวนคืนพื้นที่ สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ วงเงินทั้งสิ้น 11,738 ล้านบาท หากรวมค่าติดตั้งระบบไอที จะเพิ่มงบประมาณอีก 3,000-5,000 ล้านบาท ขณะที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ขอดูหลักการและเหตุผลในการย้ายก่อน แม้จะเห็นว่าหากกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ จะทำให้เสียเวลา และการก่อสร้างล่าช้าไปอีก จึงเห็นควรใช้สถานที่เดิมและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่า - สำนักข่าวไทย