กฟผ.ระบายน้ำ2เขื่อนให้ภาคการเกษตร
นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในปี 2555 ปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ (สิ้นสุดฤดูกักเก็บ ณ 31 ตุลาคม 2554) รวมกันอยู่ที่ 16,239 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา 6,611 ล้าน ลบ.ม. โดยคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ประกอบด้วย หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมประชาสัมพันธ์ และ กฟผ. จะเริ่มวางแผนบริหารและจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ในช่วงฤดูแล้งนี้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 โดยนำข้อมูลปริมาณความต้องการใช้น้ำเบื้องต้น ซึ่งได้รับจากกรมชลประทาน และ กฟผ. ที่ร่วมกันตรวจสอบปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้เพาะปลูกได้ในช่วงฤดูแล้งและและกิจกรรมการใช้น้ำ ไปพิจารณาความเหมาะสมในการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ให้ตรงตามความต้องการในการเพาะปลูกช่วงฤดูแล้ง และกิจกรรมการใช้น้ำ เช่น การอุปโภค บริโภค รักษาสมดุลระบบนิเวศ และผลักดันน้ำเค็มช่วงฤดูแล้ง ซึ่งในปีนี้ คณะทำงานฯ สรุปปริมาณการระบายน้ำจากทั้ง 2 เขื่อน ในช่วงฤดูแล้งปี 2555 (พฤศจิกายน 54 - เมษายน 55) ปริมาณรวม 11,865 ล้าน ลบ.ม. โดยระบายจากเขื่อนภูมิพลปริมาณ 7,237 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณ 4,630 ล้าน ลบ.ม.นอกจากนี้ เมื่อสิ้นสุดการระบายน้ำในช่วงฤดูแล้ง ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ จะลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่าง ซึ่งใกล้เคียงกับระดับน้ำเฉลี่ยของช่วงเวลาดังกล่าว คือ เขื่อนภูมิพล จะเหลือปริมาตรน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 56 มีความจุสามารถรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีก 5,906 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ จะเหลือปริมาตรน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 58 มีความจุสามารถรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีก 4,007 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพน้ำไหลเข้าเขื่อน เพื่อควบคุมให้อ่างเก็บน้ำทั้ง 2 มีความพร้อม สามารถรองรับปริมาณน้ำที่อาจมีมากเหมือนปีที่ผ่านมาได้อย่างปลอดภัย