TMBชี้ลดดอกเบี้ยนโยบายปีไม่ช่วยกระตุ้นศก.
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ออกบทวิเคราะห์ จากที่กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ในวันที่ 25 ม.ค. 55 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 3.00 จากร้อยละ 3.25 ณ สิ้นปี 2554 นั้น ทาง TMB Analytics คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับลงอีกร้อยละ 0.25 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยการประชุม กนง. จะมีขึ้นอีก 3 ครั้ง ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม และมิถุนายน ซึ่งปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค ปัญหาเดิมที่เรื้อรังมากว่า 2 ปีแล้ว คือความเสี่ยงของเศรษฐกิจยุโรป ที่คาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 0.5 - 1.0 ในปี 2555 จะทำให้ตลาดส่งออกหลักจะกระทบเชิงลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อความต้องการสินค้าส่งออกจากไทย และเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาฟื้นตัวจากผลกระทบน้ำท่วม ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ถึงร้อยละ 5.3 อีกทั้ง แรงกดดันเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกยังไม่สูงทั้งนี้ ผลจากการกระตุ้นการบริโภค การขึ้นค่าจ้างแรงงานในเดือนเมษายน และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในประเทศ จะเริ่มส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็จะไม่ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อบีบคั้นอย่างเช่นในปีก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวลงของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลักๆ โดย TMB Analytics มองว่า เงินเฟ้อทั้งปี 2555 จะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ชะลอลงจากเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จากการเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น และการส่งเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องพยายามรักษาระดับรายได้และกำไรไว้ จึงทำให้การส่งผ่านนโยบายการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทาง กนง. จึงอาจจะไร้ประสิทธิภาพไปโดยปริยาย