ทวงคืนนักศึกษากู้ กรอ. ได้แล้ว 3 ล้านบาท
21 ก.พ. - กยศ.เผยสถานศึกษา 32 แห่งใช้ชื่อนักศึกษาเบิกค่าเล่าเรียนจากกองทุน กรอ.ไปกว่า 5.2 ล้านบาท อ้างนักศึกษาลาออกไปกลางคันหลังจากเข้าเรียน ติดตามทวงคืนมาแล้ว 3.2 ล้านบาท รอผลสอบดีเอสไอก่อนดำเนินการตามกฎหมาย ยืนยันไม่เกิดซ้ำรอยใน กยศ.และ กรอ.รอบใหม่ เพราะใช้ระบบออนไลน์ยืนยันรายบุคคล
รศ.นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการสอบสวนวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยรวม 32 แห่ง ส่อทุจริตใช้รายชื่อนักศึกษาที่พ้นสถานะการเป็นศึกษาแล้วเบิกเงินค่าเล่าเรียนจากกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ระหว่างปี 2549-2550 ว่า กยศ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษา 101 รายและทำหนังสือติดตามไปยังสถานศึกษาทั้ง 32 แห่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงยืนยันการขอรับทุนของผู้ร้องเรียนแต่ละรายแล้ว โดยหากไม่มีหลักฐานการศึกษาของผู้ร้องเรียน สถานศึกษาจะไม่มีสิทธิเก็บค่าเล่าเรียนและจะต้องชดใช้เงินคืนให้แก่กองทุนฯ
รศ.นพ.ธาดา กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นในกรณีที่มีการร้องเรียนทั้งหมด เป็นยอดเงินโอน 5,289,375 บาท เพื่อเป็นค่าเล่าเรียนในช่วง 3 ภาคเรียนระหว่างปี 2549 ถึงภาคเรียนที่ 1 ปี 2550 ซึ่งภายหลังมีการตรวจสอบไป มีสถานศึกษา 17 แห่งได้ส่งเงินคืนให้กองทุนฯ เพื่อชดใช้หนี้แทนนักศึกษาแล้ว 70 ราย เป็นจำนวนเงิน 3,265,850 บาท ยังต้องติดตามคืนอีกราว 2 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะนักศึกษาดังกล่าวลาออกหลังจากได้มาสมัครเป็นนักศึกษาแล้ว แต่มีการตกหล่นไม่ได้รายงานแจ้งการย้ายสถานศึกษามายัง กนศ.
อย่างไรก็ตาม กยศ.จะให้ความร่วมมือกับดีเอสไอในการสอบสวนข้อเท็จจริง ว่าจะเป็นเจตนาของสถานศึกษาปลอมแปลงเอกสารการกู้ยืมเข้ามาโดยนักศึกษาไม่ได้เรียนหรือไม่ ซึ่งจะถือเป็นการทุจริต และ กยศ.จะดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งรายงานต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อรับทราบการปฏิบัติของสถานศึกษาแต่ละแห่ง
"ในปี 2549 เป็นปีเดียวที่มีการให้กู้ยืมเงิน กรอ.มีผู้กู้ประมาณ 320,000 รายทั่วประเทศทั้งระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ซึ่งตามกำหนดต้องชำระหนี้คืนงวดแรกวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 เมื่อมีจดหมายจากธนาคารกรุงไทยไปแจ้งทวงถาม จึงร้องเรียนโต้แย้งว่าได้ลาออก และไม่ได้ไปศึกษาที่นั่นแล้ว และเกิดข้อสงสัยว่าสถานศึกษานำชื่อไปกู้เงินหรือไม่ ส่วนตัวเลข 4 พันล้านบาทนั้นเป็นเงินกองทุน กรอ.ทั้งหมดในปีนั้น และการกู้ยืมเป็นการมอบอำนาจให้สถานศึกษาคัดเลือกมาให้กองทุนฯ เป็นฝ่ายโอนเงิน ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิบัติถูกต้อง" รศ.นพ.ธาดา กล่าวและว่า ในปี 2549 มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทำให้ผู้กู้ กรอ.ลดจาก 320,000 ราย เหลือ 280,000 คน บางคนย้ายไปกู้ กยศ. จากนั้นก็มีนโยบายไม่ให้กู้ยืมรายใหม่ ทำให้เหลือผู้กู้ กรอ.เพียง 90,000 รายเท่านั้น
ผู้จัดการ กยศ. กล่าวยืนยันว่า เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นกับการให้กู้ยืมเงิน กยศ.โดยเฉพาะหลังจากปี 2551 ที่เริ่มใช้ระบบออนไลน์ในการให้นักเรียนนักศึกษาเป็นผู้ยืนยันการขอกู้ด้วยตนเอง รวมทั้งระบบในการให้กู้ กรอ.ครั้งใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะเป็นลักษณะการกู้ยืมผ่านระบบออนไลน์เช่นกัน ส่วนกรณีที่มีสถานศึกษาแอบอ้างกู้ยืมเงิน กยศ.ในอดีต ที่มีบางแห่งใช้วิธีนำกระดาษเปล่าให้นักเรียนลงนามกู้เงินนั้น เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนจะใช้ระบบออนไลน์ ซึ่งทาง กยศ.ได้แจ้งความดำเนินคดีทั้งหมดแล้ว
สำหรับเงินกู้ กรอ.เป็น เงินกู้เพื่อการศึกษาที่ดำเนินการในปี 2549 ตามนโยบายกระจายโอกาสให้กับทุกคนมีสิทธิยื่นกู้โดยไม่จำเป็นต้องมาจากครอบครัวยากจน และเริ่มจ่ายหนี้คืนให้กับกองทุนเมื่อมีรายได้สูงถึงเกณฑ์ที่กำหนด