เริ่มแล้ว!สภาถก3ร่างแก้รธน.สมศักดิ์ยันคุมได้-ม็อบคึก
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยมี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ซึ่งขณะนี้เป็นการสลับกันหารือต่อที่ประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ ซึ่ง น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือว่า มีวาระที่เร่งด่วนกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังเห็นว่ารัฐบาล ไม่ให้ความสำคัญกับร่างของประชาชน จึงนำร่างของรัฐบาล และพรรครัฐบาลมาพิจารณา ก่อนจากนั้น จึงทำให้เกิดการโต้เถียงเล็กน้อย ระหว่าง ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ เพื่อไทย ซึ่ง นายไพจิตร ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวต่อที่ประชุมว่า ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐบาลเสนอเป็นหลัก เพราะเป็นหน้าที่รัฐบาลอยู่แล้ว ประธานรัฐสภา มั่นใจ ควบคุมการประชุมได้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จะเข้าพิจารณาในวันนี้มี 3 ร่างด้วยกันคือ ร่างของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนร่างของประชาชนนั้น คาดว่า จะใช้เวลาในการตรวจสอบความถูกต้องอีก 2 เดือน และกรอบระยะเวลาในการอภิปรายนั้นเป็นเรื่องของคณะทำงานประสานงานแต่ละฝ่าย ที่จะพูดคุยกัน ทั้งนี้จะควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามกรอบข้อบังคับและการประชุมจะวุ่นวายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของ ส.ส. แต่ละฝ่าย ส่วนฝ่ายค้านจะวอล์กเอาต์หรือไม่ ตามที่ติดตามจากข่าวเห็นว่าจะไม่ วอล์กเอาต์ ส่วนการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภานั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความเรียบร้อยอยู่แล้ว ขณะที่ ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า อยากได้เวลาการอภิปรายเท่ากับรัฐบาล คือ 9 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนเวลาการอภิปรายของ ส.ว. นั้น เห็นว่า ส.ว. ได้ทำการตกลงกับวิปรัฐบาลไว้เรียบร้อยแล้วตำรวจ300นายรปภ.รัฐสภาถกแก้ไขรธน.แยกเสื้อแดงหลากสี พ.ต.อ.พชร บุญญสิทธิ์ รักษาราชการแทนผู้บังคับคับการตำรวจนครบาล 1 (รรท.ผบก.น.1 ) เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า กรณีที่ในวันนี้ จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นวันแรก ซึ่งจะมีกลุ่มมวลชนหลายกลุ่มมาให้กำลังใจ และคัดค้านการแก้ไขดังกล่าวจำนวนมากนั้น กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้จัดกำลังตำรวจเอาไว้ดูแลความสงบเรียบร้อยจำนวน 2 กองร้อย ประมาณ 300 นาย โดยจะมีทั้ง ตำรวจปราบจลาจล และตำรวจควบคุมฝูงชน ซึ่งมวลชนที่จะมาชุมนุทมนั้น จะจัดสถานที่ให้ห่างกันพอสมควร เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน โดยกลุ่มคนเสื้อแดงจะจัดให้อยู่ด้านประตู 1 บริเวณสวนสัตว์เขาดิน ส่วนกลุ่มของ น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ จะจัดให้อยู่บริเวณถนนราชวิถี นอกจากนี้ รรท.ผบก.น.1 เปิดเผยอีกว่า ทางการข่าวในวันนี้ คาดว่าจะไม่มีเหตุรุนแรง หรือวุ่นวายแน่ และคาดว่าการชุมนุมของทั้งสองกลุ่ม จะไม่ยืดเยื้อ โดยทางตำรวจจะวางกำลังดูแลตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป ''วิรัตน์'' ยัน ไม่วอล์กเอาท์ถกรัฐสภาแก้รธน.นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะทีมกฎหมายของพรรค เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.เกี่ยวกับการตั้งข้อสังเกตของพรรคเพื่อไทย ว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะวอล์กเอาต์ ไม่ให้ความร่วมมือในการประชุมรัฐสภา พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า อย่ากลัว ทุกคนพร้อมทำหน้าที่ และส่วนตัวก็จะอภิปรายในประเด็นที่ สสร. ควรจะเป็น ส.ส. และ ส.ว. ในการร่วมกันยกร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ นายวิรัตน์ ยังกล่าวด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะเคารพในการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ฉบับ แม้ว่าจะยังเชื่อมั่นว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนก็ตาม แต่หลังจากนี้ ก็จะพยายามตรวจสอบการใช้เงินจำนวนมหาศาลของรัฐบาลต่อไป แม้ว่าเสียงในสภาฯ จะไม่พอตาม พร้อมเรียกร้องให้ภาคประชาชนอื่นๆ ช่วยกันตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มข้นด้วย ทุกคนต้องแลกบัตร-ตรวจระเบิดก่อนเข้าบรรยากาศการรักษาความปลอดภัย บริเวณอาคารรัฐสภาในวันนี้ ก่อนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่จะมีการอภิปรายร่วมรัฐสภา ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำรัฐสภา ได้ทำการตรวจตรา ผู้เดินเข้าออก อาคารรัฐสภาอย่างเข้ามงวด เนื่องจากในวันนี้มีการชุมนุมหน้าอาคารด้วย โดยผู้ที่จะเดินทางเข้าอาคารรัฐสภาได้นั้น ต้องทำการแลกบัตร และต้องผ่านเครื่องตรวจวัตถุโลหะก่อนเข้าอาคารรัฐสภาได้ เสื้อแดงทยอยชุมนุมหนุนแก้ รธน.บรรยากาศบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา ก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ล่าสุด ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางมาเตรียมชุมนุม เพื่อสนับสนุนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว จำนวนกว่า 30 คน ซึ่งขณะนี้ ได้ช่วยกันจัดตั้งเวทีปราศรัยและรวมตัวกันบริเวณทางเท้าด้านหน้า สวนสัตว์ดุสิต และอยู่ในบริเวณแนวแผงเหล็ก ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาติดตั้งตลอดแนวทางเดินฝั่งตรงข้ามอาคารรัฐสภา ส่วนกลุ่มคนเสื้อหลากสี ล่าสุด พบว่า ยังไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมา ซึ่งจากการสอบถามไปยัง นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสี กล่าวว่า จะเริ่มเดินทางมาในเวลาประมาณ 08.45 น. จากนั้นจะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เพื่อคัดค้านการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 รวมถึงนำรายชื่อกว่า 30,000 รายชื่อ ยื่นต่อ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่มาตรการดูแลความปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาล และชุดปฏิบัติการควบคุมฝูงชน 2 กองร้อย ได้เข้ามาดูแล เพื่อป้องกันเหตุปะทะ ของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว พร้อมมีการเตรียมติดตั้งเครื่องขยายเสียงไว้เตรียมการหากสถานการณ์การชุมนุมเริ่มตึงเครียด จนท.จัดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุม 2 กลุ่ม ฝ่ายละจุดสำหรับบรรยากาศก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา ล่าสุด ที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา กลุ่มคนเสื้อแดงที่เดินทางมาสนับสนุนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ได้ทยอยเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 50 คนแล้ว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการกั้นพื้นที่ไว้สำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย โดยกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น จัดกรอบไว้ให้ที่บริเวณตรงข้ามอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน ส่วนกลุ่มคนเสื้อหลากสี ได้กำหนดพื้นที่ให้อยู่ในพื้นที่บริเวณ ถนนราชวิถี ทางด้านของ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้เดินทางมาตรวจความเรียบร้อยของการวางกำลังดูแลความปลอดภัย พร้อมกับกล่าวว่า ไม่เป็นห่วงว่าจะเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่วางกำลังไว้ จะสามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้ และขณะนี้ ได้มีสื่อมวลชนเดินทางมาติดตามข่าวที่อาคารรัฐสภาจำนวนมาก เสื้อแดง-หลากสีทยอยร่วมชุมนุมต่อเนื่องบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มคนเสื้อหลากสี บริเวณลานด้านหน้าอาคารรัฐสภา ล่าสุด กลุ่มผู้ชุมนุม ทั้ง 2 กลุ่ม ยังคงมีมวลชนทยอยเดินทางเข้ามาสมทบอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มคนเสื้อแดง ที่เดินทางมาสนับสนุนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นั้น มีประมาณ 80 คน ซึ่งยังคงชุมนุมอยู่ทางเท้าด้านข้างของสวนสัตว์ดุสิต และมีการส่งเสียงโห่ร้องต้อนรับ เมื่อรถของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขับผ่านพื้นที่การชุมนุม ก่อนเข้าอาคารรัฐสภาเป็นระยะ ขณะที่ กลุ่มคนเสื้อหลากสี นำโดย น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ยังคงมีจำนวนกว่า 60 คน และยังคงปักหลักอยู่บริเวณทางเท้าของถนนราชวิถีตัดกับถนนพิชัย ซึ่ง น.พ.ตุลย์ อยู่ในระหว่างการเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคัดค้านการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ภายในรัฐสภา ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยในขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ยังคงรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และยังไม่มีเหตุการณ์เผชิญหน้าของกลุ่มมวลชน ทั้ง 2 กลุ่ม 'เฉลิม' แจง ไม่ครอบงำ สสร. การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 ล่าสุด ยังอยู่ระหว่างการหารือ ก่อนเข้าสู่วาระโดยใช้เวลาไปแล้ว นานกว่า 1 ชั่วโมง โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้หารือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ในฐานะประธานในที่ประชุม ให้เลื่อนการพิจารณาวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป ซึ่งได้ส่งหนังสือดังกล่าวให้ประธานรัฐสภา แล้ว แต่กลับถูกเพิกเฉย ทำให้เกิดการอภิปรายต่ออย่างกว้างขวาง จาก ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ เพื่อไทย ซึ่งท้ายสุด นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า ได้เกษียนหนังสือให้กับสมาชิกแล้ว ไม่ได้เป็นการลักไก่ หลังจากนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตนเองเป็นผู้พูดเองเรื่องที่ว่า จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสิทธิ์ของตน พร้อมยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ทำเพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่ง สสร. จะถูกครอบงำหรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังคาดคิดไม่ได้ และการสรรหา ก็เป็นเรื่องของ สสร. ซึ่งสุดท้ายก็มีการประชามติ จากประชาชน เสื้อหลากสี ยื่นค้านแก้ รธน. ต่อรอง ปธ.สภาฯ แล้วน.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน เข้ายื่นหนังสือแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เห็นสมควรแก้ไข โดยมี นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นตัวแทนรับทั้งนี้ น.พ.ตุลย์ ยังนำรายชื่อประชาชน 30,000 ชื่อ ยื่นคัดค้านการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อปกป้องสถาบันและเรียกร้องให้รัฐบาลปราบปรามกับขบวนการหมิ่นสถาบัน ด้านนายเจริญ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ถ้าเมื่อไหร่มีการเสนอเข้ามา ก็จะนำรายชื่อประชาชนที่คัดค้านส่งให้กับ ส.ส. เพื่อพิจารณาควบคู่กันไป สภายังไม่เข้าวาระแก้รธน.ฝ่ายค้านขอเลื่อนถก การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ผ่านไปกว่า 2 ช.ม.แล้ว แต่ยังไม่เข้าสู่วาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก พรรคประชาธิปัตย์ ต้องการให้มีการเลื่อนวาระออกไป เพื่อฟังความเห็นประชาชนก่อน ทำให้เกิดการประท้วงโต้เถียงอย่างต่อเนื่องกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า เพื่อไม่ให้สับสน ยืดเยื้อ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานในที่ประชุม ควรให้เข้าสู่วาระทันที ทั้งนี้ ล่าสุด นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงประท้วงต่อว่า ประธาน ไม่ได้แจ้งและส่งหนังสือให้สมาชิกทราบถึงวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ฉบับ จึงถือว่าการประชุมต้องยกเลิก แต่ นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า ได้แจ้งแล้วผ่านเว็บไซต์ จนท้ายสุด นายสมศักดิ์ ได้สั่งลงมติเพื่อขอความเห็นสมาชิกว่า เห็นด้วยกับการเลื่อนวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีองค์ประชุม 421 คน และที่ประชุม 341 เสียง ไม่เห็นด้วยให้เลื่อน 181เสียงเห็นด้วยให้เลื่อน ประธานจึงเตรียมสั่งเข้าสู่วาระ แต่ก็ยังคงมีการประท้วงต่อจาก นายบุญยอด เพื่อขอให้ลงมติแยกแต่ละร่าง เสื้อหลากสีนัดชุมนุมค้านแก้รธน.อีก25กพ.นี้ กลุ่มคนเสื้อหลากสี ที่ชุมนุมคัดค้านการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 บริเวณรัฐสภา ล่าสุดได้ยุติการชุมนุม และได้แยกย้ายกันกลับบ้าน โดย น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่ม ได้ประกาศนัดหมายให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางไปรวมตัวกันชุมนุมอีกครั้ง ที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันเสาร์ที่ 25 ก.พ. นี้ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป เพื่อแสดงพลังการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อไป ส่วนกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ด้านหน้ารัฐสภา ล่าสุด ส่วนใหญ่ยังคงเปิดเพลงและเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน โดยมีบางส่วนได้เริ่มทยอยกลับกันไปแล้ว และเริ่มรับประทานอาหารกลางวัน พร้อมทั้งจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัย ในขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังและมาดูแลกลุ่มคนเสื้อแดงเพิ่มเติม โดยเน้นไม่ให้ออกมากีดขวางช่องทางการจราจร สภา เห็นควรลงมติร่างรธน.รวม3ฉบับจากข้อโต้แย้งในที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่าจะแยกหรือรวมการพิจารณาร่าง รธน. ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วยร่างของรัฐบาลร่างของพรรคเพื่อไทย และร่างพรรคชาติไทยพัฒนา ที่จะมีการพิจารณานั้น ที่ประชุมมีมติ 359 เสียง ให้รวมการพิจารณาร่างทั้ง 3 ฉบับเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า การลงมตินั้น ควรแยกการลงมติทีละร่าง และให้ขณะนี้ นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เสนอร่างแก้ไข รธน. ของพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นร่างแรก โดยระบุว่า ควรแก้ไข รธน. ทั้งฉบับ เพราะที่ผ่านมานั้น มีข้อโต้แย้งว่า รธน. ฉบับปี 2540 ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากเกินไป ขณะที่ปี 2550 ทำให้พรรคการเมือง มีความอ่อนแอและองค์กรอิสระขาดการเชื่อมต่อกับประชาชน และที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ก็มีการแก้ไข รธน. ทีละประเด็น โดยมีข้อสงสัยทุกครั้งว่า เป็นการทำเพื่อคนๆ เดียว หรือไม่ จึงทำให้มีปัญหามาโดยตลอด จึงเห็นควรให้มีการแก้ไข รธน. ทั้งฉบับ โดยให้มี สสร. ขึ้นมา และให้อำนาจกับรัฐสภา เป็นผู้สรรหา สสร. จำนวน 22 คน และให้รวมกับ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้ง 99 คน ดำเนินการยกร่าง รธน. ขึ้นมา ทั้งนี้ ระหว่างการยกร่าง รธน. ให้ฟังเสียงประชาพิจารณ์จากประชา และเมื่อร่างเสร็จแล้วให้เสนอกลับมายังรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภา พิจารณาหากเห็นด้วยให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันที แต่หากรับ สภาไม่เห็นด้วย ให้นำร่าง รธน. ดังกล่าว ทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม นายชุมพล อยู่ระหว่างการอภิปรายข้อดีข้อเสีย ของ รธน. แต่ละฉบับให้ต่อที่ประชุม ได้รับ พร้อมทั้งยืนยันจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนา ให้นำข้อดีของ รธน. แต่ละฉบับมารวมกัน และเพิ่มข้อที่คิดว่าบกพร่องเข้าไป นายกฯเข้าสภาแล้วก่อนไปประชุมจัดการน้ำน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจประธานพิธีเปิดการสัมมนานโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้เดินทางมายังรัฐสภา เพื่อเข้าประชุมร่วมรัฐสภา ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยนายกรัฐมนตรีได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ในการเข้าร่วมประชุม หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมประชุมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อมวลชนกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า หลังการประชุมเสร็จสิ้น จะเดินทางกลับเข้ามายังรัฐสภาอีกครั้ง รบ.-พรรคร่วม-ชทพ.เสนอ3ร่างต่อสภาฯแล้วที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ขณะนี้ได้มีการนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ร่าง ซึ่งเป็นของพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อไทย และของรัฐบาลไปแล้ว โดยผู้เสนอร่างของรัฐบาล คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่คิดจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามความเห็นส่วนตัวอย่างแน่นอน เพราะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาจากทุกจังหวัด ถือเป็นการรับฟังเสียงของประชาชนทั้งประเทศ ทั้งที่รัฐบาลมีเสียงเพียงพอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 อยู่แล้ว ส่วนการสรรหา สสร. อีก 22 คนนั้น รัฐสภาจะสรรหาจากผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาอาชีพ ซึ่งเมื่อทำการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีการลงประชามติอีกครั้ง พร้อมทั้งยืนยันว่า รัฐบาลมีความจงรักภักดีต่อสถาบันอย่างเต็มที่ โดยยังคงรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขประมาลกฎหมายอาญามาตรา 112 ใครที่พยายามโยงเรื่องดังกล่าวเข้าด้วยกัน ถือเป็นการกล่าวเท็จ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในครั้งนี้ ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ได้เสนอนโยบายไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งแล้ว ฝ่ายค้านลุกอภิปราย-บัญญัติค้านร่าง3ฉบับที่ประชุมร่วมรัฐสภาขณะนี้ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรก ว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ เพราะมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญปี 50 นั้น ไม่ใช่ปัญหาของประเทศในขณะนี้ เนื่องจากได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน โดยการทำประชามติ และขบวนการจัดทำนั้นก็ครบถ้วนสมบูรณ์ มีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน ป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้ชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดขณะนี้ ไม่ใช่การทำรัฐประหาร แต่เป็นการผูกขาดโดยกลุ่มทุนพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในขณะนี้ของสังคมไทยทั้งนี้ นายบัญญัติ ยังระบุด้วยว่า เห็นความบกพร่องในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ เพราะไม่ได้บอกรายละเอียดถึงความเป็นอิสระของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะถูกครอบงำได้ง่ายจากฝ่ายการเมืองได้ สำหรับสมชิกวุฒิสภา ที่อภิปรายเป็นคนแรกคือ นางตรึงใจ บูรณสมภพ สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเหตุมีผล และมีประเด็นชัดเจน พร้อมทั้งระบุด้วยว่า รัฐธรรมนูญปี 50 นั้น สามารถแก้ไขเป็นรายมาตราได้ ไม่จำเป็นต้องแอบแก้มาตรา 291 เพราะการแก้แบบนี้ถือว่าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ สามารถยันแก้รธน.ทั้งฉบับยันไม่ทำเพื่อใครที่ประชุมร่วมรัฐสภาขณะนี้ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้หยิบยกข้อบกพร้องของรัฐธรรมนูญปี 50 ที่มีอยู่หลายจุดมาอภิปราย โดยเห็นว่า ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงบางมาตรา แต่เป็นช่วงเวลาที่ควรยกเครื่องรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พร้อมกันนี้ยังเชื่อว่า ประชาชนมีความเห็นในการตัดสินใจ ที่จะเลือกตัวแทนเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วการแก้ไข ก็ไม่ได้เป็นการแก้ด้วยคนเพียงไม่กี่คน แต่เป็นการแก้ด้วยตัวแทนจากประชาชนทั้งประเทศและเป็นไปไม่ได้ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำเพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนๆ เดียว เพราะท้ายที่สุด ประชาชนจะเป็นผู้ลงมติว่า เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่ สสร. ร่างมาหรือไม่ ทั้งนี้เชื่อว่า จะสามารถช่วยขจัดความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในรัฐธรรนูญฉบับปัจจุบัน และจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคมได้ด้าน เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ถ้าหากเราเห็นร่วมกันว่ามีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประเด็นที่ทำให้ประเทศเกิดความเสียหายแต่เมื่อดูข้อเท็จจริงแล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่คนใช้ ถ้าหากใช้ด้วยความเป็นธรรมเดินตามแบบประชาธิปไตย ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิด ดังนั้นจึงยังไม่เห็นขอบกพร่องที่จะแก้รัฐธรรมนูญปี 50 ชำนิลุกขึ้นอภิปรายค้านร่างแก้รธน.ทั้ง3ฉบับที่ประชุมร่วมรัฐสภาขณะนี้ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัต ย์อภิปรายว่า จากการศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ พบว่า มีหลักการเหมือนกัน แต่มีเหตุผลที่ต่างกัน ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ฉบับ เพราะถ้าไปดูกระบวรการจัดทำรัฐธรรมนูญ ปี 40 และปี 50 มาจากกระบวนการเดียวกัน แต่รัฐธรรรมนูญ ปี 50 ต่างจากปี 40 นิดเดียว คือ รัฐธรรมนูญปี 40 นั้นมา หลังรัฐบาลของ นายชวน หลีกภัย แต่รัฐธรรมนูญ ปี 50 นั้น มาหลังรัฐประหาร แต่ไม่ใช่ของคณะรัฐประหาร จึงไม่อยากเอาความชอบหรือไม่ชอบ มากำหนดความเป็นประชาธิปไตย แต่อยากให้เอาเนื้อหามากำหนดความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า ซึ่งเมื่อดูจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ปี 50 แล้ว พบว่ามีส่วนใหนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยขณะที่ นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 50 มีปัญหาเรื่องหลักนิติธรรม และการแบ่งแยกอำนาจในบางปกระการ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข และต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งส่วนหนึ่งในสังคม ก็มาจากรัฐธรรมนูญปี 50 หากมีการแก้ไข อาจช่วยปลดล็อกปัญหาของประเทศไทยได้ อภิวันท์ อภิปรายหนุนแก้ รธน. 50ที่ประชุมร่วมรัฐสภาขณะนี้ ผ่านการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วกว่า 6 ชั่วโมง โดยสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ต่างลุกขึ้นสลับกันอภิปรายถึงข้อดี ข้อเสีย ไม่มีเหตุวุ่นวาย หรือการประท้วงเกิดขึ้นโดย พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญปี 50 นั้น เป็นผลพวงจากคณะรัฐประหาร ปี 49 ซึ่งจากการทำรัฐประหารในครั้งนั้น ทำให้ประเทศถ้อยหลังไปกว่า 30 ปี ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายหลักของบ้านเมือง การร่างต้องเป็นกลาง ไม่มีอคติ แต่รัฐธรรมนูญปี 50 นั้น ร่างขึ้นมาด้วยอคติที่มีเพื่ออดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง และพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง เมื่อการร่างรัฐธรรมนูญที่มีอคติ ส่งผลชัดเจนในการตัดสินที่เป็น 2 มาตรฐาน เห็นได้จากการยุบพรรคที่ผ่านมา ทำให้ระบบประธิปไตย ผิดเพี้ยน โดยมีการใช้ 3 องค์กร มาเป็นกับดัก ได้แก่ วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ทั้งนี้ พ.อ.อภิวันท์ เห็นด้วยกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้นำข้อดีของรัฐธรรมนูญในอดีต มาปรับใช้ แต่ไม่เห็นด้วยกับที่มาของสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ จังหวัดละ 1 คน ควรจะแบ่งตามพื้นที่ความหนาแน่นของประชาชนแต่ละจังหวัดมากกว่า เพราะขณะนี้ ประชาชนได้พัฒนาทางการเมืองและประชาธิปไตยไปมาก ประชุมร่วมรัฐสภาวุ่นเล็กน้อยในการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า มีการพาดพิงสถาบัน โดยได้ร้องของให้ผู้อภิปรายพูดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ควรจะพาดพิงสถาบัน ซึ่งรัฐบาลได้ยืนยันแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะไม่แก้ไขหมวดกษัตริย์ จากนั้น น.พ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นประท้วง ร.ต.อ.เฉลิม ว่า พูดลอยๆ ต้องระบุให้ชัดเจนว่าใครอภิปรายพาดพิงสถาบัน ต่อมา นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา ได้ลุกขึ้นประท้วง ร.ต.อ.เฉลิม ว่า จากที่เห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง ที่มีการระบุว่า จะรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไม่มีการระบุให้ชัดเจนว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 2 หรือ สถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเห็นว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้ามาร่วมประชุมรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประชุมร่วมรัฐสภาผ่านไปแล้ว 9 ชั่วโมงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง ผ่านไปแล้วกว่า 9 ชั่วโมง โดยบรรดาสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ต่างสลับกันลุกขึ้นอภิปรายชี้ให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียในรัฐธรรมนูญปี 50 ว่า สมควรจะแก้ไขหรือไม่ โดยไม่มีเหตุวุ่นวาย หรือการประท้วงที่รุนแรงเกิดขึ้น นอกจากนี้ บรรดารัฐมนตรี ต่างสลับกันเดินทางเข้ามารับฟัง และร่วมประชุมรัฐสภาอยู่ตลอด อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรวมถึง นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางเข้ามาร่วมประชุมเมื่อหัวค่ำที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้จะอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนถึงเวลา 24.00 น. และจะมีการอภิปรายใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 24 ก.พ. เวลา 09.30 น.