สธ.คุ้มเข้ม! งดขายเหล้าวันมาฆบูชา
6 มี.ค. - รมว.สาธารณสุข สั่ง สสจ. และประสานผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ คุมเข้มห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในวันมาฆบูชา พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจ ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าในวันที่ 7 มี.ค. 2555 เป็นวันมาฆบูชา เป็น 1 ใน 4 ของวันพระใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษาที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ตามมาตรา 28 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 โดยยกเว้นให้ขายได้เฉพาะในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่พ.ศ.2552 จากการตรวจสอบที่ผ่านมาพบว่ามีบางสถานที่ยังมีการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว เช่นย่านบันเทิง เป็นต้น
นายวิทยากล่าวต่อว่า มาตรการควบคุมในวันมาฆบูชาในปีนี้กระทรวงฯ ได้ทำหนังสือสั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ และทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ขอให้เข้มงวดดำเนินการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งขายส่งและขายปลีก พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ ช่วยสอดส่องดูแลพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 6 มีนาคม 2555 จนถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 7 มีนาคม 2555 นอกจากนี้ จะส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางออกสุ่มตรวจด้วย หากพบมีการฝ่าฝืนกฎหมาย จะมีความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าแนวโน้มการดื่มลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการรณรงค์ให้ข้อมูลความรู้ประชาชนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน ล่าสุดในปี 2554 พบมีผู้ดื่มสุรา 17 ล้านคน คือเป็นร้อยละ 31.5 ของประชาชนวัยนี้ที่มีจำนวน 53.9 ล้านคน โดยลดลงจากในปี 2544 ที่มีร้อยละ 32.7 กลุ่มผู้ชายมีอัตราดื่มสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 5 เท่าตัว และกลุ่มวัยทำงาน อายุ 25-59 ปี มีอัตราการดื่มสูงกว่ากลุ่มอื่นคือร้อยละ 37 ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ที่ดื่มสุรา พบว่าเป็นผู้ดื่มสม่ำเสมอ 7.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 44 โดยดื่ม 5 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไปร้อยละ 41.3 และดื่มทุกวันมีถึงร้อยละ 25.7 และจากการสอบถามครัวเรือนที่มีสมาชิกครัวเรือนดื่มสุราและมีปัญหาพบว่ามีถึงร้อยละ 36.6 ที่มีปัญหาการใช้ความรุนแรงในครัวเรือน มีปัญหาความสัมพันธ์ในครัวเรือน ร้อยละ 25.7 มีปัญหาในการประกอบอาชีพ และอีกร้อยละ 23 ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ - สำนักข่าวไทย