นักจักรวาลฯชี้ระเบิดพายุสุริยะไม่กระทบไทย
จากกรณีที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซา ออกแถลงการณ์เตือนให้เตรียมรับมือกับพายุสุริยะที่มีขนาดใหญ่และรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบจีพีเอส การสื่อสารการบิน ระบบวิทยุ ระบบดาวเทียม และระบบการสื่อสารอื่นๆ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ได้รับความสนใจ และถูกกล่าวถึงอย่างมาก ทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ มีความเห็นของ นายปีเตอร์ สุดธนกิจ นักจักรวาลวิทยา เปิดเผยว่า ข้อมูลจากองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา พบว่ามีการเกิดพายุสุริยะ ระหว่างวันที่ 4 - 7 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบค่ารบกวนธรณีวิทยาของสนามแม่เหล็กโลก ในระดับ G2 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ในส่วนการรบกวนชั้นบรรยากาศจากการแผ่รังสีเอ็กซเรย์จากดวงอาทิตย์ อยู่ในระดับ R3 หรือ ระดับแข็งแกร่ง ซึ่งพายุสุริยะครั้งนี้ จะมีผลต่อสนามแม่เหล็กโลกในช่วงวัน 1 - 2 วันนี้ โดยอาจจะส่งผลกระทบต่อวิทยุคลื่นสั้น วิทยุสมัครเล่น การสื่อสารทางการบินที่ระยะข้ามเส้นขอบฟ้าในย่านเขตละติจูดสูง และระบบสื่อสารโทรคมนาคม สูญเสียการติดต่อเป็นวงกว้างในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าว ไม่น่าหวาดวิตก เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติกับโลก และมีบันทึกสถิติการเกิดแล้ว 600 ครั้ง ในรอบ 11 ปี และผู้ได้รับผลกระทบก็มีแนวโน้มเป็นผู้อยู่อาศัยใกล้เขตขั้วโลกอย่าง ทวีปอเมริกา มากกว่า ส่วนผู้ที่อยู่ในแถบเอเชีย หรือใกล้เส้นศูนย์สูตรแทบไม่ได้รับผลกระทบเลยล่าสุด องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ก็ได้ลดระดับการเตือนผลกระทบจากพายุสุริยะจนเหลือแค่ระดับศูนย์ หรือไม่มีผลกระทบต่อโลกแล้ว ทั้งนี้ องค์การนาซา ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับดวงอาทิตย์ ขณะนี้ถือว่าไม่ปกติ หลังจากดวงอาทิตย์ ไม่มีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่รุนแรงเกิดขึ้นตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยนักวิทยาศาสตร์ ยังต้องจับตามองลำแสงจากดวงอาทิตย์ ที่จะพุ่งเข้าหาโลกอีกหลายวัน หลังพายุสุริยะ สงบลงแล้ว