ดร.สุเมธแนะผู้นำใช้ปัญญาอย่าใช้อารมณ์แก้น้ำท่วม
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ทางออกภัยพิบัติของประเทศ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงว่า บ้านเมืองที่มีวิกฤติอยู่ในขณะนี้ เพราะไม่ได้ใช้ปัญญาในการรับมือ แต่มีการใช้อารมณ์ในการพูดจากัน ซึ่งหากผู้นำของประเทศมีการใช้ปัญญาในการบริหารจัดการ จะทำให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอด โดยเฉพาะการใช้ปัญญาในการรับมือกับสถานการณ์น้ำ ที่ปัจจุบันมีความแปรปรวนไม่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ และหากมีการบริหารจัดการที่ผิดพลาด จะยิ่งเกิดปัญหาทวีคูณ เห็นได้จากปัญหาน้ำท่วม ในปี 2554 ที่มีผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น หากมีการใช้หลักเหตุและผล ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาบริหารจัดการ จะทำให้ปัญหาภัยพิบัติทุเลาลงได้ โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง คือจะต้องดูว่า หากน้ำท่วมจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และหากเกิดภัยแล้ง จะมีแผนรับมืออย่างไร ไม่ให้กระทบต่อปากท้องของประชาชน "อ.เสรี" ชี้ ฟลัดเวย์ถาวร ไม่เกิด กทม.-ปริมณฑล เสี่ยงน้ำท่วมอีกนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิริธร กล่าวอภิปรายทางวิชาการเรื่อง บทเรียนการแก้ปัญหาภัยพิบัติ ต่อมุมมองภาครัฐและภาคเอกชนว่า สภาพภูมิประเทศและอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ยากต่อการพยากรณ์ และการบริหารจัดการภัยธรรมชาติ ประกอบกับ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี 2550 ที่ถูกละเลยในการนำมาประเมินความเสี่ยง จึงทำให้การบริหารจัดการน้ำไม่เป็นผล และหากปริมาณน้ำฝนในปีนี้ มีปริมาณเท่ากับปีที่ผ่านมา โดยที่ยังไม่มีมาตรการรับมือ ก็จะทำให้ปีนี้ เกิดปัญหาน้ำท่วมเหมือนปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหากยังไม่มีการสร้างฟลัดเวย์ถาวร ก็จะทำให้กรุงเทพฯและปริมณฑล ยังต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ขณะที่ ทางด้าน นายโชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทฟาร์ม โชคชัย กล่าวว่า ภาคธุรกิจอยากเห็นแผนยุทธศาสตร์ รับมือน้ำท่วม ซึ่งหากไม่มีความชัดเจน อาจทำให้เกิดบางอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิต หรือ ขยายกำลังการผลิตไปยังพื้นที่อื่น หรือ ต่างประเทศ มากขึ้น