หอการค้าชี้ขึ้นค่าแรง300บ.กระทบSME
นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2555 ใน 7 จังหวัดนำร่อง ว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่มีการจ้างแรงงานตั้งแต่ 1-25 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 98% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นอย่างมาก ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่จ้างแรงงานเกิน 500 คนขึ้นไป มีไม่ถึง 1% ของสถานประกอบการทั่วประเทศ ทั้งนี้ เมื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี มีผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทันทีประมาณ 40% ส่วนจังหวัดอื่นๆ แม้ขณะนี้จะยังไม่ต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท แต่ต้องเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อถึง 1 มกราคม 2556 ก็ต้องเป็นวันละ 300 บาท หมด ผลกระทบก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบชัดเจน คือ เอสเอ็มอี ธุรกิจดูแลรักษาความปลอดภัย (ยาม) เพราะส่วนใหญ่มีการทำสัญญากับผู้ว่าจ้างไว้แล้ว อาจจะเป็นสัญญาระยะ 3 ปี 5 ปี โดยคำนวณค่าแรงงาน ค่าบริการจัดการไว้เรียบร้อย แต่เมื่อค่าแรงงานขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ก็ไม่สามารถไปขอแก้ไขสัญญาการว่าจ้างได้ ก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น ตรงนี้กระทบชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจก่อสร้างที่มีลักษณะการทำสัญญาว่าจ้างคล้ายๆ กัน เพราะในการเสนองาน ก็ได้มีการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้แล้ว ทั้งค่าก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงาน แต่พอปรับขึ้นค่าแรง ก็ต้องรับภาระส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น