ไม่เลื่อนปรับค่าจ้าง300บาท แนะแรงงานปรุงอาหารกินเอง

ไม่เลื่อนปรับค่าจ้าง300บาท แนะแรงงานปรุงอาหารกินเอง

ไม่เลื่อนปรับค่าจ้าง300บาท แนะแรงงานปรุงอาหารกินเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(2 พ.ค.) บอร์ดค่าจ้างไม่เลื่อนปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ใน 70 จังหวัด ชี้ข้อมูลฝ่ายนายจ้างไม่ชัดเจน รอดูผลสำรวจค่าครองชีพ 3 เดือน ก่อนสรุปเสนอรัฐบาลพิจารณาควรเลื่อนหรือไม่ ด้านกระทรวงพาณิชย์ชี้ราคาอาหารจานเดียวปรับราคาแพงขึ้น แนะแรงงานปรุงกินเองถูกกว่า

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมการค่าจ้างกลางวันนี้ ไม่ได้มีการพิจารณาเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด จากปี 2556 ไปเป็นปี 2558 แม้จะมีกรรมการฝ่ายนายจ้างบางคน เสนอให้เลื่อนออกไป เนื่องจากเห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่มีความชัดเจน หากเปลี่ยนไปมาจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดความสับสนและปรับตัวไม่ทัน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ สำรวจผลกระทบค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นจะนำข้อมูลมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

นพ.สมเกียรติ ยังกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยืนยันในงานวันแรงงานแห่งชาติ ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด ในปี 2556 ว่า หากผลสำรวจพบว่าการปรับขึ้นค่าจ้าง ส่งผลกระทบรุนแรงต่อค่าครองชีพ และเศรษฐกิจมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ บอร์ดค่าจ้างกลาง ซึ่งเป็นระบบไตรภาคี อาจทบทวนมติและเสนอต่อรัฐบาลพิจารณาต่อไป

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมฯ ครั้งนี้ ผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอตัวเลขราคาสินค้าในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. พบว่า ราคาสินค้าไม่ได้มีการปรับสูงขึ้นผิดปกติโดยเฉพาะหมวดอาหารสดต่าง ๆ เช่น ผักสด เนื้อสัตว์ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วมีแนวโน้มลดลง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากราคาอาหารจานเดียวที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นการฉวยโอกาสของผู้ประกอบการในการปรับขึ้นราคาสินค้าของอาหารในช่วงที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเมื่อปรับขึ้นราคาไปแล้วก็จะไม่มีการลดราคาลงมา

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมฯ ได้เสนอแนวคิดให้แรงงานใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมค่าใช้จ่าย เช่น ปรับวิธีการใช้ชีวิตประจำวัน จากเดิมที่เคยซื้ออาหารจานเดียว เปลี่ยนมาปรุงเองที่บ้าน นอกจากนี้ จะต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการจัดเวลาให้แรงงานสามารถปรุงอาหารเองหลังเลิกงานได้

ด้านนายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย ในฐานะกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างเพิ่งมีผลเพียง 1 เดือนเท่านั้น และเสียงสะท้อนถึงผลกระทบส่วนใหญ่ยังมาจากตัวแทนองค์การนายจ้างไม่ได้มาจากผู้ประกอบการอย่างแท้จริง จึงขอให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบออกมาสะท้อนให้สังคมได้รับรู้ คาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน จะทราบจำนวนที่แท้จริง.-สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook