นายกฯ ห่วงทุจริตกระทบ ปท.ขอร่วมตัดวงจรโกง
วันนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จัดงานนิทรรศการและการสัมมนาผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 1 (พ.ศ.2551 - 2555) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ โดย เวลา 09.00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต" จากนั้น 10.00 - 12.00 น. จะเสวนาเรื่อง "ทิศทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทย" โดยที่มีวิทยากรชื่อดัง อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นายภักดี โพธิศิริ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ส่วนภาคบ่ายเวลา 13.00 - 15.00 น. เสวนาระดมความคิด เรื่อง “การปฏิรูปการศึกษาเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต บรรยากาศในงานเริ่มคึกคักบรรยากาศงานนิทรรศการและการสัมมนาผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 1 พ.ศ.2551 - 2555 ขณะนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดให้ลงทะเบียนและเข้าชมนิทรรศการแล้ว โดยได้เชิญ กรรมการ ป.ป.ช. องค์กรภาคการเมือง องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน นักเรียน นักศึกษา รวมถึง ประชาชนทั่วไป รวมกว่า 700 คน ร่วมประชุมสัมมนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการต่อต้านการทุจริต อีกทั้ง การพัฒนาส่งเสริมความโปร่งใสของประเทศไทย ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดนิทรรศการและกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ ทั้งหมด 7 บูธกิจกรรม พร้อมแจกหนังสือ และเอกสารเพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจ อย่างไรก็ตาม บรรดาสื่อมวลชนจากทุกแขนง ได้เกาะติดทำข่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก วันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษด้วย ปานเทพ สัมมนาปปช.ย้ำคอร์รัปชั่นปัญหาสำคัญ บรรยากาศงานรวมพลังเดินหน้าฝ่าวิกฤติคอร์รัปชั่นของ สำนักงาน ป.ป.ช. ขณะนี้ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการแล้ว ท่ามกลางผู้ร่วมงานกล่าว 700 คน โดย นายปานเทพ กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เริ่ม ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 1 มาตลอด 5 ปี คือปี พ.ศ.2551 - 2555 โดยการจัดงานในวันนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงาน รวมถึง การแลกเปลี่ยนความคิดให้เกิดผลเด่นชัด และลดปัญหาคอร์รัปชั่น ที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ ซึ่งปัญหาที่พบจะได้นำมาพูดคุยกันภายในงาน ร่วมหารือถึงแนวทางแก้ไขร่วมกัน และในปีนี้ภาครัฐบาลได้สนับสนุนอย่างจริงจัง ซึ่งในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษ และร่วมลงปฏิญญาพร้อมกันจากตัวแทนภาคต่าง ๆ นายกฯ ห่วงทุจริตกระทบ ปท.ขอร่วมตัดวงจรโกง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาภายในงานสัมมนา ผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 1 ว่า การปราบปรามการทุจริต เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และจากการจัดอันดับคอร์รัปชั่น ประเทศไทยมีการคอร์รัปชั่นมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันสนับสนุน ปลูกฝังค่านิยมให้กับคนภายในองค์กร พร้อมกันนี้ รัฐบาล ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการระเบิดจากข้างในที่ต้องเริ่มปราบปรามการคอร์รัปชั่นจากคนภายในองค์กรก่อน ซึ่งรัฐบาลได้จัดทำโครงการ 1 หน่วยงาน 1 ข้อเสนอ โดยให้คนภายในองค์กร เสนอแนวทางป้องกันปราบปรามการทุจริตเข้ามาพิจารณา ทั้งนี้ ต้องขจัดวัฒนธรรมการซื้อขายตำแหน่ง และการออกกฎหมาย เพื่อป้องกันการทุจริต แต่กฎหมายต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจและเอกชน และไม่ให้เกิดความล่าช้าในขั้นตอนต่าง ๆ "ภักดี" ชี้ คอร์รัปชั่น เป็นโรคร้ายแรง ทุกฝ่ายต้องช่วยแก้ปัญหานายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเสวนาเรื่อง ทิศทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทย ภายในงานรวมพลังฝ่าวิกฤติคอร์รัปชั่นว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการทำการวิเคราะห์แล้วว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องเยียวยา โดยต้องระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งพัฒนาให้ประเทศไทย ปราศจากคอร์รัปชั่นและร่วมกันต่อต้าน จากการดำเนินการตลอด 5 ปี ผลที่ได้รับยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่พบสิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากทุกภาคส่วน คือภาครัฐมีความชัดเจนในการกำหนดนโยบายในการออกกฎหมายที่เข้มข้นในการปราบโกงภาคเอกชนมีการริเริ่มก่อตั้งแนวร่วมป้องกันการจัดซื้อจัดจ้างภาคประชาคมตื่นตัวในการสร้างจิตอาสา ทั้งนี้ เชื่อว่า การที่ นายกรัฐมนตรี ประกาศเจตนารมณ์และผลักดันเป็นวาระแห่งชาตินั้น จะเป็นกลไกในการเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป "นิคม" ชี้ กระบวนการถอดถอน มีความสำคัญแก้คอร์รัปชั่นนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง กล่าวเสวนาทิศทางป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทยว่า ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ออกกฎหมาย ตรวจสอบการทำงานและกระบวนการถอดถอน โดยการถอดถอนเป็นกระบวนการตรวจสอบการทำหน้าที่ ที่ส่อไปในทางมิชอบ หากถึงขั้นร้ายแรง ต้องถูกถอดถอนทันที ส่วนใหญ่เป็นปัญหามาจากด้านการเมือง ซึ่งต้องมีการปรับปรุงระบบ เพื่อเป็นด่านสุดท้ายในการปราบคนโกงออกไป หากมีระบบที่ดี การถอดถอนคนโกงได้จะเป็นการปราบปรามได้ดี ไม่เช่นนั้นการคอร์รัปชั่น จะเป็นวัฒนธรรมของคนทำงาน คือ โกงได้แต่ทำงาน ทำให้ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งสังคมไทยกลับยกย่องผู้มีเงิน มีอำนาจ จึงไม่สามารถป้องกันปัญหาได้ ดังนั้น ต้องทำอย่างไรในการให้ภาคประชาสังคม เข้มแข็งในการผลักดันร่วมมือกันมากขึ้น และฝ่ายบริหารต้องปฏิบัติตามนโยบายที่เคยประกาศไว้ต่อรัฐสภา