ข้อพิพาททางทะเลจะเป็นประเด็นหลักเออาร์เอฟ
การประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เออาร์เอฟ 28 ชาติ จะมีขึ้นในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ ที่ กรุงพนมเปญของกัมพูชา หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ 10 ชาติอาเซียน นายคาร์ล เทเยอร์ อาจารย์รัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ในออสเตรเลีย กล่าวว่า อาเซียน คงจะมีความคืบหน้าเรื่องระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ เพราะได้ขีดเส้นตายให้ตนเองว่า ต้องมีร่างนี้ภายในเดือนนี้ทะเลจีนใต้ เป็นน่านน้ำที่สมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และมาเลเซีย อ้างสิทธิทับซ้อนกับจีนและไต้หวันเหนือเกาะบางแห่ง หรือ ทั้งหมด ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน มีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่ายว่า ควรให้จีนมีส่วนร่วมในการร่างระเบียบปฏิบัติหรือไม่ อย่างไรก็ดี อาเซียนยังคงหวังว่า จะบรรลุข้อตกลงกับจีนได้ภายในปีนี้ หลังจากรับปากเมื่อ 10 ปีก่อนว่า จะตั้งกรอบที่มีผลทางกฎหมายในการแก้ไขข้อพิพาทนี้ ด้าน นายเออร์นี บาวเออร์ จากศูนย์ยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษาในกรุงวอชิงตันของสหรัฐ มองว่า การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีน และการที่สหรัฐขยายความสัมพันธ์ทางทหารกับฟิลิปปินส์และเวียดนาม จะเป็นเรื่องใหญ่ในการประชุมเออาร์เอฟ คาดว่า นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ จะลดความสำคัญของประเด็นขัดแย้งกับจีน และจะชูเรื่องความร่วมมือกับจีนว่าเป็นนโยบายหลักของสหรัฐ เธออาจไม่พูดเรื่องทะเลจีนใต้เหมือนที่เคยพูดในเออาร์เอฟ ปี 2553 ว่าการเข้าถึงทะเลจีนใต้อย่างเสรีเป็นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐ และทำให้จีนไม่พอใจมาแล้ว