สาธิตจุฬาฯแถลงพบ22เด็กป่วยมือเท้าปากยันสายพันธุ์ไม่แรง
รองศาสตราจารย์สุปราณี จิราณรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายประถมโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้แถลงข่าว ชี้แจง กรณีพบเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม เป็นโรค มือ เท้า ปาก ในจำนวนทั้งหมด 22 ราย จนต้องมีการสั่งปิดโรงเรียนตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 16 กรกฎาคม โดยจะทำการเปิดเรียนในวันจันทร์ ที่ 23 กรกฎาคมนี้ โดยระบุว่าในวันนี้ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสิ่งแวดล้อม กทม.มาทำการฉีดยาฆ่าเชื้อตามอาคารเรียนห้องน้ำและอุปกรณ์ต่างๆแล้ว พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการสั่งทำความสะอาดโรงเรียนเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากที่มีการพบโรคดังกล่าวเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน ก็ได้สั่งการให้ทำความสะอาดภายในบริเวณโรงเรียนเข้มงวดมากขึ้น และกำชับให้ครูประจำชั้นคอยเฝ้าสังเกตุ และคัดกรองนักเรียนก่อนเข้าห้องเรียนด้วย ว่าหากพบมีอาการที่ผิดปกติ เช่น หากพบว่านักเรียนมีอาการคล้ายจะมีไข้ ไม่สบาย หรือ หน้าแดง ก็จะทำการคัดแยกนำเด็กส่งห้องพยาบาล ก่อนให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้านเพื่อพาไปพบแพทย์ ทั้งนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเด็กที่มีอาการป่วยโรค มือ เท้า ปากนั้น ได้รับเชื้อมาจากสายพันธุ์อะไร เนื่องจากในปัจจุบันโรคดังกล่าวมีมากกว่า 1 สายพันธุ์ อีกทั้งการตรวจต้องใช้วิธีการถอดรหัสทางพันธุกรรม ซึ่งมีไม่กี่แห่งในประเทศด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีพบโรคมือ เท้า ปาก แพร่ระบาดในประเทศไทย เป็นจำนวนมากในขณะนี้ โดยกล่าวว่าโรคดังกล่าวมีการแพร่ระบาดและเป็นกันมานานแล้ว แต่ยอมรับว่า โรคดังกล่าวมีการแพร่ระบาดสูงสุดในรอบ30 ปี โดยสายพันธุ์ที่พบว่ามีการแพร่ระบาดในไทยนั้น ไม่ใช่สายพันธุ์ที่รุนแรง เช่นเดียวกับประเทศกัมพูชาหรือเวียดนามที่มีการเสียชีวิตจำนวนมาก โดยสายพันธุ์ที่พบมี2สายพันธุ์ คือ เอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์B5 ซึ่งพบน้อยมากหรือประมาณร้อยละ20 ส่วนที่เป็นกันมาก คือสายพันธุ์คอกชากีA6 พบมีการระบาดสูงร้อยละ80 ส่วนสาเหตุที่มีการแพร่ระบาดมากในไทยโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของประชากรไทย พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ยังไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อเอนเทอไวรัส71สายพัน B5 และผู้ใหญ่อายุเกิน 12 ปี ร้อยละ 90 มีภูมิต้านทาน ทั้งนี้ยืนยันว่าการแพร่ระบาดในไทยยังสามารถควบคุมได้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการศึกษาและเฝ้าระวังอยู่แล้ว จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและป้องกันการติดเชื้อด้วยการระมัดระวัง หมั่นดูแลสุขอนามัย รักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน รับประทานอาหารที่สุก ซึ่งในปัจจุปันยังไม่มีวัคซีนและยาต้านไวรัสในการรักษา โรคส่วนใหญ่จะหายได้เอง โดยใช้เวลา3-5วัน ดังนั้นผู้ป่วยทุกรายไม่ควรไปโรงเรียนและควรหยุดพักอยู่ที่บ้าน รักษาตามอาการไปจนกว่าจะหาย เพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ผอ.สำนักอนามัยกทม.สั่งเฝ้าระวังโรคเด็กมือเท้าปากนางมนทิรา ทองสาริ ผอ.สำนักอนามัย กทม. เปิดเผย ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า หลังจากมีข่าวการระบาดของโรคมือเท้าปาก ระบาดอย่างหนักในโรงเรียนเด็กเล็ก เขต กทม. และมีการสั่งปิดโรงเรียนบางแห่งไปแล้วหลายโรง รวมทั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนโดยทั่วไปนั้น ทาง สำนักอนามัย ได้เฝ้าระวังโรคนี้มาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว โดยมีการเข้าไปตรวจสอบ และหากพบว่าโรงเรียนใดมีเด็กป่วยเป็นโรคนี้ จะสั่งปิดรายห้องเรียนทันที เพื่อทำความสะอาด และป้องกันการระบาดของโรค ซึ่งโรงเรียนในสังกัด กทม. หลายร้อยโรงเรียน รับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติหมดแล้ว ส่วนสารเคมีที่ใช้นั้น ยืนยันว่าทางสำนักอนามัย มีเพียงพอในการเข้าทำความสะอาดโรงเรียนทุกแห่งที่พบเชื้อและล่าสุด ผอ.สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ทางกรมควบคุมโรค ได้มีหนังสือสั่งการด่วนมาถึงว่า หากพบเด็กนักเรียน เพียง 1 ราย ป่วยเป็นโรคนี้ ให้สั่งปิดห้องเรียนนั้นทันที อย่างน้อย 7 วัน เนื่องจากเป็นระยะที่เชื้อนี้ เพาะพันธุ์ขยายตัว แต่หากว่าพบ น.ร. ป่วยมากกว่านี้ ก็สามารถประสานกับโรงเรียน สั่งปิดทั้งโรงได้ทันทีเช่นกัน ซึ่งอยู่ที่ดุลพินิจของโรงเรียนเป็นหลัก สสจ.สระแก้ว มั่นใจ ป้องกันโรคมือเท้าปากได้น.พ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า อ.คลองหาด ได้ประชุมศูนย์ปฏิบัติการที่จะเฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อตัวนี้ ที่คาดว่ายังมีอยู่ในประเทศกัมพูชา ก่อปัญหาในพื้นที่ของ จ.สระแก้ว ขอยืนยันว่า ข่าวที่ปรากฏตามสื่อใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ในจังหวัดที่ติดต่อกับ อ.คลองหาด ก็คือ จ.พระตะบอง และ อ.สำเภาลูน ประเทศกัมพูชา มีจำนวนผู้ป่วยหลายราย และก็มีผู้เสียชีวิต ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับทางสาธารณสุข จ.พระตะบอง และสาธารณสุข จ.บันเตียเมียนเจย ข้อมูลที่ได้รับยืนยันว่า อ.พระตะบอง นั้น มีผู้ป่วย 1 ราย ไม่ได้มีการเสียชีวิต ส่วน อ.สำเภาลูน ติดกับ อ.คลองหาด ไม่มีรายงานผู้ป่วย การป้องกันตรงนี้ขอให้ประชาชนในประเทศและจังหวัดสระแก้วมั่นใจได้ เพราะมีความร่วมมือด้วยดี ทั้งทาง อ.คลองหาด และภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ตรวจคนเข้าเมือง ทหารพราน ในส่วนสาธารณสุขทุกส่วนมั่นใจในการป้องกันเชื้อตัวนี้เข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างแน่นอน โรงเรียนสตูล เฝ้าระวังโรคมือเท้าปากนายนิสิต ชายภักตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล กล่าวให้สถานศึกษาทุกโรงเรียน ในพื้นที่ จ.สตูล จำนวน 161 โรงเรียน ให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากระบาดในเด็กนักเรียน ในจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนระดับประถมศึกษา เป็นการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว เช่น ให้คุณครูได้ทำการฝึกและดูแลใกล้ชิดในเรื่องของการทำความสะอาด การล้างมือให้ถูกวิธี การยิบจับอาหาร การรับประทานอาหาร รวมถึงโรงอาหารต่างๆ ให้ปรุงสุกใหม่ๆ และการใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร โดยสั่งให้ข้าราชการครูดูแลนักเรียนในช่วงของการรับประทานอาหารในช่วงพักกลางวัน และตามร้านค้าต่างๆ ให้เฝ้าระวัง ห้องน้ำ ห้องส้วม น้ำดื่มน้ำใช้ต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ เพื่อลดการเป็นพาหะในการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ในพื้นที่ จ.สตูล เอง ได้มีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ พร้อมทำรายงานให้กับสำนักงานเขตพื้นที่ทราบทันทีหากมีอาการ และเข้าพบแพทย์ทันที ลำปางปิดสถานรับเลี้ยงเด็กอีกแห่งนายสันติ นฤมิตร นายอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้ห่ม ออกสำรวจสถานรับเลี้ยงเด็ก ในพื้นที่อำเภอแจ้ห่มทั้ง 32 แห่ง หลังจากที่พบเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นโรคมือเท้าปาก และจากสถิติตั้งแต่ต้นปี 2555 เป็นต้นมา สูงกว่า 40 ราย เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ทางอำเภอแจ้ห่ม และสาธารณสุขอำเภอแจ้ห่ม ได้ทำการออกสุ่มตรวจหาเชื้อโรค พร้อมมีการเฝ้าระวังโรคดังกล่าวจากสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานว่า พบเด็กติดเชื้อโรคดังกล่าวเพิ่มที่สถานรับเลี้ยงเด็กในตำบลทุ่งผึ้งอีก 1 ราย และได้สั่งปิดสถานรับเลี้ยงเด็กแล้ว เพื่อทำความสะอาดฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในห้องเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน และของเล่นต่างๆ ของเด็กป่วย และไม่น่าห่วงที่จะมีเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะจังหวัดลำปาง ไม่ได้อยู่ติดกับประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่การระบาดของโรคที่น่ากลัวดังกล่าว และมีรายงานจาก สนง.สาธารณสุขจังหวัดลำปาง ว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก ทั้งจังหวัด มียอดรวมอยู่ที่ 213 รายแล้ว กทม.ทำความสะอาดสาธิตจุฬาฯกันมือเท้าปาก บรรยากาศที่ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมศึกษา ภายหลังศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศปิดโรงเรียนตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันจันทร์ ที่ 23 ก.ค. 2555 เนื่องจากมีการแพร่ระบาดโรคมือเท้าปาก โดยเริ่มต้นในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และระบาดไปยังนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และปีที่ 3 ในวันต่อมา โดยล่าสุดพบนักเรียนป่วยโรคมือเท้าปากป่วยทุกระดับชั้น จำนวน 18 ราย และในวันนี้ ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อม กทม.ได้เข้ามาดำเนินการทำความสะอาดและฉีดยาฆ่าเชื้อตามอาคารเรียนและพื้นที่ต่างๆ แล้ว อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมแถลงข่าวชี้แจง ในช่วงบ่ายของวันนี้ กทม. เผย สั่งปิด ร.ร.กทม. 18 โรง พบติดเชื้อ 73 แห่งแล้วพ.ญ.มาลินี สุขเวชวรกิจ รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า การเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากใน กทม. นั้น เตรียมการมาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว และหากพบเด็กรายใดป่วย ก็จะสั่งให้กลับบ้านทันที เพื่อให้ไม่เชื้อแพร่กระจายออกไป แต่เมื่อสถิติเพิ่มสูงขึ้น โดยเดือนมิ.ย. มีถึง 860 ราย ส่วนเดือน ก.ค. มีเด็กป่วยแล้ว 391 ราย ถือว่า สถิติเริ่มลดลง แต่เพื่อความไม่ประมาท ต้องเฝ้าระวังต่อไป ส่วนที่ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ที่มีเด็กติดเชื้อ และสั่งปิดไปแล้วนั้น ยอมรับ ทุกคนกังวลมาก ทาง กทม. ได้ร่วมมือกันทำความสะอาด แล้ว คาดว่า สถานการณ์จะควบคุมได้แน่ส่วน โรงเรียนใน กทม. ได้สั่งปิดไปแล้วทั้งหมด 18 โรง ปิดบางห้องไปแล้ว 11 แห่ง โดยตรวจสอบพบว่า มีโรงเรียนใน กทม. เด็กป่วยโรคนี้มี 73 แห่ง ซึ่งก็ต้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้กระจายออกไปมากกว่านี้ ถือว่า เชื้อโรคที่พบในประเทศไทย ยังไม่สำแดงเดช ยืนยันว่า สามารถควบคุมได้อยู่ สธ.สั่งเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ว่า ขณะนี้ได้ให้ทีมผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์ในภาพรวมทั่วประเทศทุกวัน จากการวิเคราะห์ พบว่า แนวโน้มการป่วย จะมีต่อเนื่องไปอีก 1 - 2 เดือน มีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายในหลายจังหวัด เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝนและเปิดเทอม เชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุชอบอากาศเย็นชื้นอยู่แล้ว ได้กำชับให้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จัดระบบการเฝ้าระวัง ร่วมกับพื้นที่เสี่ยงได้แก่ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนประถมศึกษา และประสาน กทม. เมื่อพบเด็กป่วย 10 รายขึ้นไป หรือเป็นกลุ่มก้อน ให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน เพื่อขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง และขอยืนยันว่า มาตรการปิดโรงเรียนเป็นระบบการควบคุมป้องกันโรค ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่เด็กเล็ก ซึ่งต่อจากนี้ ไปอาจจะมีการปิดเรียนได้ตามความจำเป็น ขอให้ประชาชนไม่ต้องตกใจแต่อย่างใดสำหรับสถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก จนถึงวันที่ 11 ก.ค. 2555 ทั่วประเทศ มีรายงานทั้งหมด 12,581 ราย ไม่มีเสียชีวิต พบได้ทุกอายุ แต่ที่มากที่สุด คือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบภาคกลางมากที่สุด รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราการพบผู้ป่วยรายใหม่ในปลายเดือนมิถุนายน เฉลี่ยวันละ 80 - 100 ราย เริ่มมีแนวโน้มชะลอในบางพื้นที่แต่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในเขตเมืองใหญ่ได้ โรคมือ เท้า ปาก ระบาด อุบลฯนายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคมือ เท้า ปากเปื่อย ซึ่งกำลังระบาดอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ขณะนี้ สำหรับ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชาหลายจุด พื้นที่ อ.บุณฑริก และ อ.น้ำยืน เป็นต้น จึงได้เผ้าระวังอย่างใกล้ชิดขณะนี้ จังหวัดอุบลราชธานี พบโรคมือ เท้า ปาก จากเมื่อเดือน ม.ค. - 16 ก.ค. 2555 เด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 337 ราย ส่วนมากจะพบในเด็กอายุ 1 - 3 ปี มากที่สุด ปัจจุบันศูนย์เด็กเล็กที่ อ.นาจะหลวย ปิดแล้ว 2 ศูนย์ ศูนย์เด็กเล็กในอำเภอเดชอุดม ปิด 1 ศูนย์ และทราบว่า เด็กนักเรียนอนุบาล จ.อุบลราชธานี พบเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 13 ราย ดังนั้นหากพบว่า เด็กไม่สบายเจ็บปาก ขณะนี้ ให้พบแพทย์โดยด่วนด้วย จะได้ทราบสาเหตุ และหาวิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ต่อไป