การทางหลักสี่ เร่งซ่อม ถ.แจ้งวัฒนะยุบตัว
กองบังคับการตำรวจจราจร หรือ บก.จร. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมในการปิดการจราจร ถนนแจ้งวัฒนะ ขาออก ตั้งแต่ วงเวียนบางเขนถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เพื่อดำเนินการซ่อมแซมผิวจราจรจุดที่ถนนมีการยุบตัว โดยจะให้รถทุกคันไปใช้สะพานข้ามวงเวียนบางเขนแทน รถที่ใช้ถนนพหลโยธินขาเข้า จากตลาดยิ่งเจริญ ถนนพหลโยธินขาออก จากสะพานบางบัว หรือ ถนนแจ้งวัฒนะ ขาเข้า จากสะพานข้ามแยกหลักสี่ แล้วต้องการไปถนนแจ้งวัฒนะขาออก ต้องไปวนรถที่วงเวียนบางเขน แล้วไปใช้ถนนรามอินทราขาออก จากนั้น ก็กลับรถใช้สะพานข้ามวงเวียนบางเขนไปถนนแจ้งวัฒนะขาออก จนกว่าสภาพการจราจรจะคลี่คลายทั้งนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยการทางแขวงหลักสี่ ได้นำเครื่องจักรหนัก เข้าไปแก้ไขซ่อมแซม ถนนแจ้งวัฒนะ จุดที่มีการยุบตัวเป็นหลุมกว้าง 3 เมตร ลึกกว่า 2 เมตรแล้ว โดยเบื้องต้น จะเร่งให้แล้วเสร็จภายในเวลาเที่ยงคืน วันเสาร์ที่ 4 ส.ค.นี้ เนื่องจากคาดว่า วันอาทิตย์ จะมีรถจำนวนมากที่ต้องใช้เส้นทางกลับจากต่างจังหวัดหลังวันหยุดยาว รวมทั้ง วันจันทร์ ที่จะเป็นวันทำงานวันแรกของสัปดาห์ ซึ่งปกติการจราจรจะหนาแน่นบนถนนแจ้งวัฒนะช่วงดังกล่าวอยู่แล้วด้าน นายสันติ ไตรพยัคฆ์ หัวหน้าหมวดการทางหลักสี่ กรมทางหลวง เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงความคืบหน้า การซ่อมแซมผิวถนนที่เกิดการทรุดตัวเป็นหลุมลึก 2 เมตร กว้างประมาณ 3 เมตร บริเวณช่องสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ข้างห้างสรรพสินค้าไอที สแควร์ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซม โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา ได้ทำการทุบผิวถนน เพื่อเปิดช่องที่เป็นโพรงด้านใน ขนาดกว้าง 4 เมตร ทั้ง 2 เลน ในฝั่งขาเข้าเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการนำวัสดุ เพื่อทำการปิดรูรั่วด้วยแผ่นซีเมนต์ ก่อนอัดบดหินคลุกให้แน่นเต็มโพรง แล้วทำการปิดผิวหน้าอีกครั้ง โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเที่ยงคืนวันนี้ จึงฝากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวไปจนกว่าการซ่อมแซมจะแล้วเสร็จ พร้อมกันนี้ ยังระบุด้วยว่า หลังจากทำการซ่อมในจุดดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว กรมทางหลวง จะดำเนินการตรวจหาจุดที่คาดว่าจะเกิดกรณีเดียวกันในจุดเสี่ยงต่อไปอีก เพื่อทำการซ่อมแซมและป้องกันล่วงไว้ล่วงหน้า ส่วนสาเหตุในครั้งนี้น่าจะเกิดจากอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมา เพราะน้ำท่วมมาถึงบริเวณคอสะพาน ทำให้ทรายและหินคลุกใต้คอสะพานเกิดการรั่วไหลไปในคลองเปรมประชากร 'รมช.คมนาคม' รุดตรวจการซ่อมถนนทรุดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจการซ่อมแซมถนนทรุด ที่บริเวณช่องสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ข้างห้างสรรพสินค้าไอที สแควร์ บนถนนแจ้งวัฒนะ กว้าง 3 เมตร ลึกกว่า 1.5 เมตร ซึ่ง กรมทางหลวง อยู่ระหว่างดำเนินการซ่อมแซม โดยนำเครื่องจักรหนัก เช่น รถแบ็คโฮ รถเจาะคอนกรีต เครื่องสกัดคอนกรีต เข้ามาทำการแก้ไข และจะเร่งให้เสร็จสิ้นภายในเวลาเที่ยงคืนของวันนี้ พร้อมสั่งการให้ทางหลวง นำเครื่องเรดาร์วัดความลึก และความหนาแน่นของถนน มาทำการตรวจสอบ โดยเริ่มจากคอสะพานเปรมประชากร อีก 3 จุดที่เหลือ ถ้ามีโพรง ก็ให้ดำเนินการอุดโพรง เพื่อไม่ให้เกิดทรุดตัวซ้ำอีก พร้อมขยายผลไปตรวจสอบถนนที่มีแนวโน้มจะทรุดตัว โดยเฉพาะในช่วงคอสะพานที่ถูกน้ำท่วมเป็นเวลานาน และมีรถหนักวิ่งผ่านเป็นประจำ เพื่อดำเนินการซ่อมแซมก่อนเกิดเหตุถนนยุบตัวซ้ำอีกทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการปิดการจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะ ขาออก ตั้งแต่ วงเวียนบางเขน จนถึง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เพื่อดำเนินการซ่อมแซมผิวจราจรจุดที่ถนนมีการยุบตัว จะให้รถทุกคันไปใช้สะพานข้ามวงเวียนบางเขนแทน รถที่ใช้ถนนพหลโยธิน ขาเข้า จากตลาดยิ่งเจริญ ถนนพหลโยธิน ขาออก จากสะพานบางบัว หรือ ถนนแจ้งวัฒนะ ขาเข้า จากสะพานข้ามแยกหลักสี่ แล้วต้องการไปถนนแจ้งวัฒนะ ขาออก ต้องไปวนรถที่วงเวียนบางเขน แล้วไปใช้ถนนรามอินทรา ขาออก จากนั้นก็กลับรถใช้สะพานข้ามวงเวียนบางเขน ไปถนนแจ้งวัฒนะ ขาออก จนกว่าสภาพการจราจรจะคลี่คลาย 'จารุพงศ์' ตรวจถนนทรุด คาดเปิดจราจรได้ก่อน 18.00 น.นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางเข้าตรวจสอบและดูการทำงานของเจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวง ที่ทำการซ่อมแซมถนนส่วนที่ทรุดตัว บริเวณเชิงสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ติดกับห้างสรรพสินค้าไอทีสแควร์ ก่อนถึงแยกหลักสี่ โดยเจ้าหน้าที่ ดำเนินการซ่อมแซมถนนส่วนที่เสียหายเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งใช้เวลา 24 ชั่วโมง ในการซ่อมแซมดังกล่าว และจะเปิดถนนให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ก่อนเวลา 18.00 น. พร้อมระบุว่า จากบทเรียนครั้งนี้ ก็น่าจะมีการตรวจสอบถนน ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมา และถนนพระราม 2 ที่เป็นเส้นทางหลักในการเดินทาง ทั้งนี้จากที่มีการสำรวจความเสียหาย มีปัญหาในส่วนของการบุกรุกที่ดิน ทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก และปัญหาท่อน้ำประปารั่ว ก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาถนนทรุดตัว โดยหากทำการตรวจสอบแล้ว พบส่วนที่เกิดความเสียหาย จะรีบทำการซ่อมแซมโดยด่วน ซึ่งจะเริ่มจากจุดที่คาดว่าเป็นอันตรายต่อประชาชนก่อนเป็นลำดับแรก