ศาลตัดสินพันคำกองTAXIแดงตายฝีมือทหารยิง
ศาลอาญารัชดา นัดฟังคำสั่งในคดีที่ พนักงานอัยการ ฝ่ายคดีอาญา 9 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตร สาเหตุการสียชีวิตของ นายพัน คำกอง โชเฟอร์แท็กซี่ ชาว จ.ยโสธร และแนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์ การชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 โดยศาลพิเคราะห์จากข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12 เม.ย. - 19 พ.ค.2553 เพื่อกดดันให้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา บริเวณแยกผ่านฟ้า และแยกราชประสงค์ ได้มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อควบคุมสถานการณ์ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ ได้มีการปิดเส้นทางเข้าออกพื้นที่การชุมนุม พร้อมตรวจค้นอาวุธเข้มงวด รวมไปถึงมีการติดป้ายประกาศว่า มีการใช้กระสุนจริง ดังนั้น จึงมีคำสั่งให้การเสียชีวิตของ นายพัน บริเวณหน้าสำนักงานขายคอนโด ไอดีโอ ถนนราชปรารภ เกิดจากกระสุนปืนขนาด .223 ที่ใช้กับอาวุธในราชการสงครามของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งในวันเกิดเหตุ ทหารได้ร่วมกันยิงใส่รถตู้ที่ขับฝ่าเข้ามาในพื้นที่ควบคุมแล้วกระสุนได้ถูก นายพัน เสียชีวิต ขณะเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่ ควบคุมสถานการณ์ตามคำสั่ง ศอฉ. ธิดา เผย คำสั่งศาล พัน คำกอง คือ บรรทัดฐานของคดีอื่นนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กล่าวภายหลังฟังคำสั่งไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ นายพัน คำกอง โชเฟอร์แท็กซี่ และแนวร่วม กลุ่ม นปช. ว่า มีความยินดีกับคำสั่งศาลในวันนี้ พร้อมกับรู้สึกว่า ยังมีความยุติธรรมอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะต้องทำให้ความจริงปรากฏต่อไป โดยไม่จำเป็นว่า ความจริงนั้นจะต้องถูกใจทุกคน ขณะเดียวกัน มองว่า คำสั่งชันสูตรการเสียชีวิตของ นายพัน จะเป็นบรรทัดฐานที่ดีของคดีอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ ยังกล่าวถึงการเยียวยาของรัฐบาล ด้วยว่า กลุ่ม นปช. จะไม่ก้าวก่ายในเรื่องนี้ แต่ก็อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา เพราะเชื่อว่า สาเหตุล้วนเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ด้าน นายแพทย์เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ระบุถึงกรณีที่ ศาลไต่สวนและมีคำสั่งออกมาว่า คดีนี้ไม่มีชายชุดดำเข้ามาเกี่ยวข้อง ว่า คำสั่งศาลในวันนี้ ชี้ให้เห็นชัดแล้วว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่มีกลุ่มชายชุดดำ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจากนี้ไปตนจะจับตาดูท่าทีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เคยออกมาให้ข้อมูลกรณีชายชุดดำ