'ราชบัณฑิต' สำรวจแก้ 176 ศัพท์ลูกครึ่งให้ตรงเสียง
นางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กองศิลปกรรมได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นประมาณ 300 ชุด เกี่ยวกับการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เพื่อสอบถามความเห็นจากคณะกรรมการราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และผู้ที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงการเขียนคำที่ยืมจากภาษาอังกฤษใหม่ เนื่องจากพบว่ามีคำศัพท์ที่ยืมมาจากคำภาษาอังกฤษ 176 คำ เขียนผิด และไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของคำนั้นๆ ตามอักขรวิธีไทย และการอ่านออกเสียง ที่ผ่านมามีหลายคนตั้งคำถามว่าทำไมคำคำนี้ เขียนแบบนี้ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่มาเรียนภาษาไทย หรือว่าฝึกอ่านภาษาไทย ซึ่งได้เรียนวิธีการเขียนและอ่านอย่างถูกต้องมาแล้ว เมื่อมาเจอคำศัพท์บางคำที่ไม่มีวรรณยุกต์ ก็เกิดความสับสน และอ่านไม่ออก
นางกาญจนากล่าวต่อว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมาจากขั้นตอนการถอดคำ หรือว่ายืมคำมาจากภาษาอังกฤษ เมื่อแปลมาเป็นภาษาไทย ไม่ได้เติมวรรณยุกต์เสียงเอก โท หรือตรี รวมทั้ง ไม้ไต่คู้ ให้ตรงตามอักขรวิธีไทย อย่างคำว่า "แคลอรี" การเขียนให้ตรงกับการออกเสียงต้องเป็น "แคลอรี่" หรือว่าคำว่า "โควตา" ถ้าจะให้ตรงกับการออกเสียงต้องเป็นคำว่า "โควต้า" รวมทั้ง "เรดาร์" ต้องเป็นคำว่า "เรด้าร์" เพื่อให้ตรงตามเสียงของคำนี้ เป็นต้น
"ที่หลายคนกังวลว่าการเปลี่ยนวิธีการเขียนคำครั้งนี้ อาจทำให้สับสน หรือว่าเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเขียนศัพท์ต่างๆ นั้น ไม่น่าจะสับสน เพราะถ้าอ่านภาษาไทยก็ไม่น่าสับสน คำศัพท์หลายๆ คำในปัจจุบันมีคนเขียนตามคำศัพท์ที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ถ้าใครจะเขียนแบบเดิมๆ ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ที่เสนอให้แก้ไข เพื่อให้เขียนถูกต้องตามเสียงของคำนั้นๆ แม้ว่าหลายคนอาจมองว่าแปลก และไม่ควรแก้ไข" นางกาญจนากล่าว
นางกาญจนากล่าวต่อว่า เบื้องต้นได้สอบถามความเห็นจากสภาราชบัณฑิต ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเติมวรรณยุกต์ และเปลี่ยนแปลงคำศัพท์ทั้ง 176 คำ เพื่อเขียนให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูผลการสำรวจความคิดเห็นอีกครั้งว่าส่วนใหญ่จะเห็นด้วยทุกคำ หรือเห็นด้วยเฉพาะบางคำ ซึ่งตามกำหนดเวลาแล้ว ภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ทุกคนต้องส่งแบบสอบถามดังกล่าวกลับที่กองศิลปกรรม เพื่อประมวลผลความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ และมีข้อเสนออะไร ทั้งนี้ การขอปรับแก้คำศัพท์ทั้ง 176 คำนั้น หากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าควรเปลี่ยน ก็จะนำไปบรรจุในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย สถาน พ.ศ.2554 ซึ่งกำลังดำเนินการปรับปรุงเพื่อจัดพิมพ์เล่มใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำศัพท์ที่อยู่ในแบบสำรวจ เพื่อขอความเห็นในการเปลี่ยนแปลงการเขียนใหม่ ดังนี้
1.คำที่ใส่เครื่องหมายไม้ไต่คู้เพื่อแสดงสระเสียงสั้น ได้แก่ ซีเมนต์ เปลี่ยนเป็น ซีเม็นต์, เซต-เซ็ต, เซนติกรัม-เซ็นติกรัม, เซนติเกรด-เซ็นติเกรด, เซนติลิตร-เซ็นติลิตร, ไดเรกตริกซ์-ไดเร็กตริก, เทนนิส-เท็นนิส, นอต-น็อต, นิวตรอน-นิวตร็อน, เนตบอล-เน็ตบอล, เนปจูน-เน็ปจูน, เบนซิน-เบ็นซิน, แบคทีเรีย-แบ็คทีเรีย, มะฮอกกานี-มะฮ็อกกานี, เมตริก-เม็ตตริก, เมตริกตัน- เม็ตริกตัน, แมงกานิน-แม็งกานิน, อิเล็ก ตรอน-อิเล็กตร็อน, เฮกโตกรัม-เฮ็กโตกรัม, เฮกโตลิตร-เฮ็กโตลิตร
2.คำที่เปลี่ยนตัวพยัญชนะเป็นอักษรสูง ได้แก่ คอร์ด-ขอร์ด, แคโทด-แคโถด, ซัลเฟต-ซัลเฝต, ไทเทรต-ไทเถรต, ไนต์คลับ-ไน้ต์ขลับ, พาร์เซก-พาร์เส็ก, แฟลต-แฝล็ต, สเปกโทร สโกป-สเป็กโทรสโขป, ไอโซโทป-ไอโซโถป
3.คำที่ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์เอก ได้แก่ กอริลลา-กอริลล่า, แกโดลิเนียม-แกโดลิ เนี่ยม, แกมมา-แกมม่า, แกลเลียม-แกลเลี่ยม, คูเรียม-คูเรี่ยม, แคดเมียม-แคดเมี่ยม, แคลเซียม-แคลเซี่ยม, แคลอรี-แคลอรี่, โครเมียม-โครเมี่ยม, ซิงโคนา-ซิงโคน่า, ซิลิคอน-ซิลิค่อน, ซีเซียม-ซีเซี่ยม, ซีนอน-ซีน่อน, ซีเรียม-ซีเรี่ยม, โซลา-โซล่า, ดอลลาร์-ดอลล่าร์, เทคโนโลยี-เท็คโนโลยี่, แทนทาลัม-แทนทาลั่ม, ไทเทเนียม-ไทเท เนี่ยม, เนบิวลา-เนบิวล่า, ไนลอน-ไนล่อน, แบเรียม-แบเรี่ยม, ปริซึม-ปริซึ่ม, ปิโตรเลียม-ปิโตรเลี่ยม, แพลทินัม-แพลทินั่ม, ฟังก์ชัน-ฟังก์ชั่น, ฟาทอม-ฟาท่อม, ไมครอน-ไมคร่อน, ยิปซัม-ยิปซั่ม, ยูเรเนียม-ยูเรเนี่ยม, เลเซอร์-เลเซ่อร์, วอลเลย์บอล-วอลเล่ย์บอล, อะลูมิเนียม-อะลูมิเนี่ยม, อีเทอร์-อีเท่อร์, เอเคอร์-เอเค่อร์, แอลฟา-แอลฟ่า, ฮาห์เนียม-ฮาห์เนี่ยม, ฮีเลียม-ฮีเลี่ยม
4.คำที่ใส่ ห นำเพื่อแสดงเสียงวรรณยุกต์เอก ได้แก่ กะรัต-กะหรัต, แกรนิต-แกรหนิต, คลินิก-คลิหนิก, คาทอลิก-คาทอหลิก, คาร์บอเนต-คาร์บอเหนต, คาร์บอลิก-คาร์บอหลิก, โคออร์ดิเนต-โคออร์ดิเหนต, รูเล็ตต์- รูเหล็ตต์,
5.คำที่เติมเครื่องหมายวรรณยุกต์โท ได้แก่ กลูโคส-กลูโค้ส, กิโลไซเกิล-กิโลไซเกิ้ล, กิโลเมตร-กิโลเม้ตร, กิโลเฮิรตซ์-กิโลเฮิ้รตซ์, กีตาร์-กีต้าร์, แกรไฟต์-แกรไฟ้ต์, คาร์บอน-คาร์บ้อน, คาร์บูเรเตอร์-คาร์บูเรเต้อร์, เคเบิล-เคเบิ้ล, โควตา-โควต้า, ชอล์ก-ช้อล์ก, ซอส-ซ้อส, โซเดียม-โซเดี้ยม, ไดนาไมต์-ไดนาไม้ต์, แทนเจนต์-แทนเจ้นต์, แทรกเตอร์-แทรกเต้อร์, นิกเกิล-นิกเกิ้ล, ไนต์คลับ-ไน้ต์ขลับ, ไนโตรเจน-ไนโตรเจ้น, บารอมิเตอร์-บารอมิเต้อร์, บีตา-บีต้า, ปาทังกา-ปาทังก้า, ปาร์เกต์-ปาร์เก้ต์, พลาสติก-พล้าสติก, ฟาสซิสต์- ฟ้าสซิสต์, มอเตอร์-มอเต้อร์, เมตร-เม้ตร, ไมกา-ไมก้า, ยีราฟ-ยีร้าฟ, เรดอน-เรด้อน, เรดาร์-เรด้าร์, เรเดียม-เรเดี้ยม, ลิกไนต์- ลิกไน้ต์, แวนดา-แวนด้า, อาร์กอน-อาร์ก้อน, แอนติบอดี-แอนติบอดี้, เฮิรตซ์-เฮิ้รตซ์, ไฮดรา-ไฮดร้า, ไฮโดรเจน-ไฮโดรเจ้น
6.คำที่เติมเครื่องหมายวรรณยุกต์ตรี ได้แก่ กราฟ-กร๊าฟ, ก๊อซ-ก๊อซ, กอล์ฟ-ก๊อล์ฟ, เกาต์-เก๊าต์, ออกไซด์-อ๊อกไซด์, โคบอลต์- โคบ๊อลต์, ดราฟต์-ดร๊าฟต์, ดัตช์-ดั๊ตช์, ดิสโพรเซียม-ดิ๊สโพรเซี่ยม, เดกซ์โทรส-เด๊ก โทรัส, เต็นท์-เต๊นท์, บาสเกตบอล-บ๊าสเก้ต บอล, บิสมัท-บิ๊สมั้ท, แบงก์-แบ๊งก์, โบต-โบ๊ต, ปลาสเตอร์-ปล๊าสเต้อร์, ปิกนิก-ปิ๊กหนิก, ออกซิเจน-อ๊อกซิเย่น, ออกซิเดชัน-อ๊อก ซิเดชั่น, ออกไซด์-อ๊อกไซด์, อาร์ต-อ๊าร์ต, เอกซเรย์-เอ๊กซเรย์, แอสไพริน-แอ๊สไพริน, แอสฟัลต์-แอ๊สฟัลต์, โอ๊ด-โอ๊ต
และ 7.คำที่มีหลายพยางค์ ได้แก่ คอนเดนเซอร์-ค็อนเด็นเซ่อร์, คอนแวนต์-ค็อนแว็นต์, คอนเสิร์ต-ค็อนเสิร์ต, คอมพิวเตอร์-ค็อมพิ้วเต้อร์, คอมมานโด-ค็อมมานโด, คอมมิวนิสต์-ค็อมมิวนิสต์, คูปอง- คูป็อง, เครดิตฟองซิเอร์-เครดิตฟ็องซิเอร์, แคดเมียม-แค็ดเมี่ยม, แคปซูล-แค็ปซูล, แคลเซียมไซคลาเมต-แคลเซี่ยมไซคลาเมต, ช็อกโกเลต/ ช็อกโกแลต-ช็อกโกแล็ต, เซนติเมตร-เซ็นติเม้ตร, โซเดียมคาร์บอเนต-โซเดี้ยมคาร์บอเหนต, โซเดียมไซคลาเมต-โซเดี้ยมไซคลาเหมต, โซเดียมไฮโดรเจนกลูทาเมต-โซเดี้ยมไฮโดรเจ้นกลูตาเหมต, โซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต-โซเดี้ยมไฮโดร เจ้นคาร์บอเหนต, ดีเปรสชัน-ดีเปร๊สชั่น, เทคโนโลยี-เท็คโนโลยี่, แทรกเตอร์-แทร็ก เต้อร์, แบดมินตัน-แบ็ดมินตั้น, แบตเตอรี่-แบ็ตเตอรี่, พลาสมา-พล้าสม่า, โพแทสเซียม-โพแท้สเซี่ยม, เมนทอล-เม็นท่อล, แมงกานีส-แม็งกานี้ส, แมกนีเซียม-แม็กนีเซี่ยม, รีดักชัน-รีดั๊กชั่น, ลอการิทึม-ล็อกการิทึ่ม, สเปกตรัม-สเป๊กตรั้ม, สเปกโทรสโกป-สเป็กโตรสโขป, ออกซิเดชัน-อ๊อกซิเดชั่น, อัลตราไวโอเลต-อัลตร้าไวโอเหล็ต, แอกทิเนียม-แอ๊กทิเนี่ยม, แอนติอิเล็ก ตรอน-แอ็นติอิเล็กตร็อน, เฮกตาร์-เฮ็กต้าร์ และเฮกโตเมตร- เฮ็กโตเม้ตร