"ราชบัณฑิตยสถาน" ประกาศถอย! ยันไม่แก้คำทับศัพท์ หลังคนส่วนใหญ่เมิน

"ราชบัณฑิตยสถาน" ประกาศถอย! ยันไม่แก้คำทับศัพท์ หลังคนส่วนใหญ่เมิน

"ราชบัณฑิตยสถาน" ประกาศถอย! ยันไม่แก้คำทับศัพท์ หลังคนส่วนใหญ่เมิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ราชบัณฑิตยสถานชี้แจงว่า ไม่มีการแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่กำลังดำเนินการจัดพิมพ์ รวมทั้งยังไม่มีมติให้แก้ไขรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ตามที่ได้มีประชาชนจำนวนมากแสดงความห่วงใยเรื่องรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ผ่านสื่อต่างๆ นั้น ราชบัณฑิตยสถานขอขอบคุณและขอชี้แจงว่า ราชบัณฑิตยสถานได้ถือหลักการเขียนคำในภาษาต่างประเทศ ตามพระดำริของ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ว่า การเขียนคำในภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษออกเสียงไม่แน่นอน จะออกเสียงอย่างไรย่อมแล้วแต่ประโยค เสียงจะสูงต่ำก็แล้วแต่ตำแหน่งของคำในประโยค จึงทรงเห็นว่าไม่ควรใช้วรรณยุกต์กำกับตามเหตุผลดังกล่าว     

เลขาธิการราชบัณฑิตยสถานกล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันราชบัณฑิตยสถานมีราชบัณฑิตสาขาวิชาต่างๆ 84 คน ภาคีสมาชิกสาขาวิชาต่างๆ 80 คน และมีคณะกรรมการวิชาการในสาขาวิชาการต่างๆ กว่า 90 คณะ ซึ่งอาจเสนอความเห็นทางด้านวิชาการให้ราชบัณฑิตยสถานพิจารณาได้ และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ในฐานะราชบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย ได้เสนอขอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษ โดยแนะให้ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ หรืออักษรสูง หรือใช้ ห นำในคำที่ไม่สามารถผันวรรณยุกต์ได้ ราชบัณฑิตยสถานจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการเขียนคำที่มาจากต่างประเทศ เพื่อพิจารณาเรื่องที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล เสนอ คณะกรรมการฯ ได้มีมติให้ออกแบบสอบถามตามข้อเสนอของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล โดยสอบถามราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และกรรมการวิชาการของราชบัณฑิตยสถาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเฉพาะภายในองค์กรเป็นเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2555 และจะเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวต่อสภาราชบัณฑิต ในการประชุมครั้งที่ 4/2555 ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2555  

"ผลการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะภายในองค์กรของราชบัณฑิตยสถานเกี่ยวกับหลักการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะมีผลเป็นประการใด เป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ข้อยุติ การแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษซึ่งใช้ในทางราชการ ทางการศึกษา มาเป็นเวลานาน หากมีการเปลี่ยนแปลง ย่อมมีผลกระทบสำคัญต่อการใช้ภาษาไทยของหน่วยงานราชการ นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ดังนั้น จึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและบุคคลดังกล่าวก่อน ตามหลักการพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก่อนที่จะพิจารณาดำเนินการไปในทางใดทางหนึ่ง และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดพิมพ์นั้น ไม่ได้แก้ไขรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษตามที่เป็นข่าว ส่วนความคิดเห็นของประชาชนที่ปรากฎในสื่อต่างๆ ราชบัณฑิตยสถานจะรวบรวมข้อมูลไว้เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป" เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าว

ในตอนท้าย เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ได้กล่าวย้ำว่า ไม่มีการแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิมพ์ และจะเสร็จพร้อมแจกให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ส่วนราชการ สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ในต้นปี 2556 เนื่องจากได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา

       

เปิด 176 ศัพท์ลูกครึ่ง ที่'ราชบัณฑิต'สำรวจแก้วิธีเขียน

ครูลิลลี่ ค้านแก้วิธีเขียน 176 ศัพท์ลูกครึ่ง


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook