กรมคุมประพฤติเล็งใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์คุมเด็กแว้น
กรมคุมประพฤติเตรียมใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์คุมเด็กแว้น และผู้ต้องหาเมาแล้วขับ ควบคุมพื้นที่แทนกักขังในสถานพินิจฯ
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ แถลงภายหลังประชุม "การใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) หรือ EM" ควบคุมตัวผู้ต้องขังแทนการลงโทษจำคุกมาใช้ในประเทศไทยครั้งแรก โดยมีตัวแทนของกรมคุมประพฤติ ศาลเยาวชนและครอบครัว อัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน เข้าร่วม โดยเมื่อปี 2549 คณะกรรมการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เคยนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาเพื่อขอให้แก้ไขกฎหมาย ป.วิอาญามาตรา 89 (2) ให้มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ควบคุมตัวนักโทษเรือนจำ เพื่อลดปัญหาความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำและเป็นการควบคุมตัวเพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด หรือฟื้นฟูพฤติกรรม แต่ต้องสร้างความปลอดภัยให้สังคมและเหยื่อ โดยจุดประสงค์ของการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้เพื่อควบคุม จำกัดและเฝ้าระวัง ซึ่งกรมคุมประพฤติจะเสนอศาลเยาวชนกลางใช้เครื่องอีเอ็มนำร่องกับคดีที่เยาวชนและสตรีกระทำผิดในเขตกรุงเทพฯก่อน เช่น คดีเด็กที่กระทำผิดจราจร หรือเด็กแว้น และคดีการทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรอื่น ๆ หรือเมาแล้วขับ
น.ส.รื่นวดี กล่าวอีกว่า การคุมประพฤติสำหรับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ศาลจะเป็นผู้สั่งคดีว่าจะให้เยาวชนเข้าสู่ศูนย์ฝึกอบรมในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน แต่หากมีการนำเครื่องมือควบคุมตัวอิเล็ทรอนิกส์มาใช้จะเป็นทางเลือกให้ศาลอนุญาตให้ผู้กระทำผิดได้อิสรภาพกลับไปอยู่ที่บ้านได้ แต่มีการติดเครื่องมือดังกล่าวที่มีลักษณะคล้ายกับนาฬิกาข้อมือ หรือกำไล เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกแปลกแยก โดยมีศูนย์ติดตามตัวเด็กที่กรมคุมประพฤติและประสานเชื่อมต่อไปยังตำรวจเพื่อติดตามตัวเด็กได้ทันทีที่ออกนอกเขตคุมประพฤติหรือเข้าไปอยู่ในพื้นที่ต้องห้าม หรือเข้าใกล้เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวด้วยว่า การนำแนวคิดนี้กลับมาเดินหน้าต่อเพราะปัจจุบันเทคโนโลยีราคาถูกลง คาดว่าอยู่ที่เครื่องละ 20,000 บาท นำร่อง 1,000 เครื่อง เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกับศาลเยาวชนฯ ภายในเดือนธันวาคมนี้ และหากไม่ติดขัดอุปสรรคเรื่องงบประมาณ คาดจะนำร่องได้ในเดือนมกราคม 2556