น่าห่วง! หนุ่มวัย 30 ปี ติดเกมหนัก ถึงขั้นอึหน้าจอคอมพิวเตอร์
(ภาพประกอบข่าว)
ปัญหาเด็กติดเกมยิ่งรุนแรง พบเคสอายุเกือบ 30 ติดเกมส์จนอึหน้าหน้าจอคอมพิวเตอร์ เผยยายที่ดูแลต้องคอยส่งข้าวน้ำให้ตลอด
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)กล่าวในเวที สช.เจาะประเด็น "คุมเข้มเด็กเล่นเกม : ลิดรอนสิทธิ หรือช่วยสร้างสรรค์" ตอนหนึ่งว่า สถิติของการติดเกมอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำรวจตั้งแต่ปี 2551 พบเด็กมีพฤติกรรมรุนแรงร้อยละ 5 ปี 2552 ร้อยละ 9 ปี 2554 ประมาณร้อยละ 14.49 จึงต้องมีการบำบัดรักษา โดยเริ่มจากการตรวจวินิจฉัยและเก็บข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ผ่านมา เจอผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นผู้ชายอายุเกือบ 30 ปี ยายพามาพบจิตแพทย์ เพราะติดเกมอย่างรุนแรง ถึงขนาดถ่ายอุจจาระหน้าจอคอมพิวเตอร์ และเริ่มเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า ทราบว่าติดเกมตั้งแต่เด็ก เมื่อทำงานมีปัญหากับที่ทำงานจนต้องออกมาอยู่บ้าน และเล่นเกมตลอดเวลา ยายที่ดูแลต้องคอยส่งข้าวน้ำให้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากการทำโครงการพัฒนาเครือข่ายในโรงเรียนเพื่อการดูแลและช่วยเหลือนักเรียนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำให้ได้ข้อมูลจากการลงพื้นที่จังหวัดหนึ่ง ซึ่งครูได้ติดตามเด็กที่หายจากโรงเรียนราว 10 คนว่า พ่อของเพื่อนดัดแปลงบ้านบริเวณชั้นบนเปิดเป็นร้านเกมเถื่อนให้เพื่อนลูกใช้บริการโดยเก็บค่าบริการ มีที่นอนหมอนและเสื้อผ้าเปลี่ยนให้ด้วย ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำเช่นนี้กับลูกคนอื่นได้อย่างไร ทั้งนี้ พ่อแม่
ผู้ปกครองสามารถประเมินได้ว่าลูกตนเองติดเกมหรือไม่ หากเด็กใช้เวลาในการเล่นเกมอย่างน้อย 1 ชั่วโมงติดต่อกันทุกวันๆ พ่อแม่ควรตระหนักว่าลูกเริ่มมีความผิดปกติ หรือดาวน์โหลดแบบประเมินการติดเกมจากเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th เพื่อทำการประเมินลูกแล้วพามาพบจิตแพทย์เข้ารับการรักษา