กรมวิทย์ฯแนะระวังอันตรายกาวติดเล็บปลอม
น.พ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงอันตรายในการต่อเล็บปลอม ว่า ถึงเล็บปลอมนั้นจะทำมาจากสารเคมีและพลาสติกก็ตาม การต่อเล็บปลอมนี้ ก็กำลังได้รับความนิยมกันมากขึ้นในประเทศไทย โดยการต่อเล็บปลอมนั้น จะต้องใช้กาวในการเชื่อมต่อกับเล็บจริง อาจเป็นอันตราย ทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการได้ ทั้งนี้ ส่วนประกอบหลักของกาวนั้น มีสารเอทิลไซยาโนอะคริเลต ซึ่งเป็นกาวชนิดแห้งเร็ว และอาจทำให้ผู้สัมผัสเกิดอาการแพ้ โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อสารเคมี อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาและทางเดินหายใจได้จากการตรวจสอบวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์ ที่ได้ทำการวิเคราะห์หาปริมาณเอทิลไซยาโนอะคริเลต จำนวน 23 ตัวอย่าง พบเอทิลไซยาโนอะคริเลต มากถึงจำนวน 21 ตัวอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กฎหมายไทยยังไม่มีการควบคุมกำกับสารเอทิลไซยาโนอะคริเลต ในผลิตภัณฑ์กาวที่ใช้ในเล็บปลอม มีแต่การควบคุมปริมาณ ฟอร์มัลดีไฮด์ ในผลิตภัณฑ์สำหรับเล็บเท่านั้น ดังนั้น จากการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ จึงทำให้ทราบปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์กาวติดเล็บปลอม ซึ่งจะนำไปสู่การออกกฎหมาย เพื่อควบคุมปริมาณสารเคมีให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไป ส่วนข้อควรระวังสำหรับการติดเล็บปลอม ไม่ว่าจะติดเองที่บ้านหรือที่ร้าน ไม่ควรนำเล็บที่หลุดออกไปแล้วมาติดทับใหม่โดยไม่ทำความสะอาด เนื่องจากเชื้อราและแบคทีเรีย อาจเจริญเติบโตระหว่างชั้นเล็บ จนทำให้ผิวหนังอักเสบ ฉะนั้น ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาด ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการด้วย