ชาวเน็ตค้าน! อัสสัมชัญยุบรวม"เซนต์หลุยส์ บางรัก"
ชาวเน็ตร่วมกันคัดค้าน′อัสสัมชัญ′เตรียมยุบรวม"เซนต์หลุยส์-บางรัก" ระบุบังคับครูเซ็นใบลาออกใครไม่ยอมไล่ออก อ้างเอาที่ดินไปขาย
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในเว็บไซต์พันทิป เฟซบุ๊ก และโซเชียลมีเดียต่างๆ มีการตั้งกระทู้และมีผู้แสดงความคิดเห็นคัดค้านกระแสข่าวการยุบรวมโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถมศึกษา ซอยเซนต์หลุยส์ ไปผนวกรวมกับโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกมัธยม เขตบางรัก กทม.โดยมีการระบุว่าโรงเรียนบังคับให้ครูเซ็นใบลาออกล่วงหน้า ถ้าครูคนไหนไม่ยอมเซ็นใบลาออกจะถูกให้ออก พร้อมจ่ายค่าชดเชยให้ อ้างว่าผู้บริหารโรงเรียนจะเอาที่ดินตรงซอยเซนต์หลุยส์ไปขาย ซึ่งมีการเรียกร้องให้ศิษย์เก่าและผู้ปกครองออกมาร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านนั้น
นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กำกับดูแลโรงเรียนเอกชน เปิดเผยว่า ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการหลอมรวมโรงเรียนอัมสัมชัญ แผนกประถมและแผนกมัธยมศึกษาเข้าด้วยกัน เรื่องนี้เข้าใจว่าน่าจะสืบเนื่องมาจากกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ การกำหนดรายการและการขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้ง และการกำหนดขนาดที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนในระบบ พ.ศ.2555 มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระบุว่า การขอเพิ่มขนาดที่ดินที่ใช้จัดตั้งโรงเรียนในระบบที่ดินที่ขอเพิ่ม จะต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 200 ตารางวา และอยู่ห่างจากที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบตามเส้นทางคมนาคมไม่เกิน 1 กิโลเมตร เป็นอำนาจของเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้อนุมัติ แต่หากที่ดินอยู่ห่างเกิน 1 กิโลเมตร แต่ไม่เกิน 3 กิโลเมตร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) แล้วแต่กรณี จะต้องส่งคำขอพร้อมเอกสาร ให้เลขาธิการ กช.เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
รักษาการเลขาธิการ กช.กล่าวต่อว่า ฉะนั้น ส่งผลให้ขณะนี้มีผู้ถือใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเอกชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวน 2-3 โรง รวมถึงโรงเรียนอัสสัมชัญด้วย ขอหารือถึงการยุบรวมแผนกประถมและแผนกมัธยมศึกษาเข้าด้วยกัน แต่ทั้งนี้ยังเป็นแค่การสอบถามแนวทาง แต่ยังไม่ใช่การเสนอขอยุบรวม เพราะตนได้ให้คำตอบไปว่าขอให้ไปศึกษารายละเอียดกฎกระทรวงให้ดี เนื่องจากการจะเสนอขอยุบรวมได้นั้น จะต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ตลอดจนครู ผู้ปกครอง นักเรียน ก็ต้องเห็นด้วย ถ้ามีเสียงคัดค้าน แม้เพียงเล็กน้อย ก็จะไม่สามารถยุบรวมได้ และที่สำคัญเมื่อได้รับความยินยอมจากทุกฝ่ายแล้ว ทางโรงเรียนจะต้องทำแผนเพื่อช่วยเหลือเด็กและครูกรณีที่ได้รับผลกระทบด้วย
"กรณีที่มีกระแสข่าวว่าครูโรงเรียนอัสสัมชัญออกมาคัดค้านนั้น ถ้ามีการเคลื่อนไหวคัดค้านจริง ผมก็ขอฝากไปถึงเพื่อนครูว่า ขอให้สบายใจอย่าเพิ่งได้เป็นกังวล เพราะขณะนี้ผมยังไม่ได้เซ็นอนุมัติการยุบรวมของโรงเรียนไหนสักแห่ง ที่สำคัญถ้าจะมีการยุบรวมจริง ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนจะต้องไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะตามกฎกระทรวงระบุว่า ครูจะต้องได้รับการบรรจุกลับมาเหมือนเดิมทุกคน ส่วนที่จะกระทบก็คงเป็นตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนเพราะเมื่อยุบรวมแล้วจะเหลือผู้บริหารแค่คนเดียว จากเดิมมีผู้บริหาร 2 คน แยกระหว่างผู้บริหารแผนกประถม และผู้บริหารแผนกมัธยม แต่ทั้งนี้ผมก็ไม่รู้ว่าการที่ครูออกมาเคลื่อนไหว มีสาเหตุอะไร" นายชาญวิทย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎกระทรวงดังกล่าว ระบุว่า การขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้ง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนในระบบก่อนยื่นคำขอและให้ผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้ง ยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้งตามแบบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 3 พร้อมทั้งแนบตราสารจัดตั้งและรายละเอียดที่จะขอเปลี่ยนแปลง โดยให้แสดงเหตุผลที่จะขอเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเสนอมาตรการรองรับหรือแผนการช่วยเหลือนักเรียนและครูที่ได้รับผลกระทบประกอบการพิจารณา ในส่วนการขอเปลี่ยนแปลงประเภทโรงเรียนหรือการขอลดหรือยุบระดับที่เปิดสอน ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งให้นักเรียนและครูที่ได้รับผลกระทบทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนยื่นคำขอ รวมถึงการขอเปลี่ยนแปลงขนาดที่ดินหรือสถานที่ตั้ง ต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับขนาดที่ดินหรือสถานที่ตั้ง และแผนผังแสดงบริเวณและอาคารของโรงเรียนในระบบประกอบคำขอด้วย