"กรณ์" ฉุนรถติด โพสต์จวกนโยบายรถคันแรก

"กรณ์" ฉุนรถติด โพสต์จวกนโยบายรถคันแรก

"กรณ์" ฉุนรถติด โพสต์จวกนโยบายรถคันแรก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ค "Korn Chatikavanij" ถึงนโยบายคืนภาษีรถคนแรกของรัฐบาลว่า


บางเรื่องพูดแล้วต้องพูดอีก

วันก่อนผมนั่งรถบนทางด่วนออกไปทางปทุมฯ ตอนประมาณ ๐๖๓๐น.. รถขาเข้าก็ติดยาวแล้ว แต่ก่อนนี้กว่าจะเริ่มติดจริงๆต้องประมาณเจ็ดโมงเช้า ต้องบอกว่าเป็นภาพที่หดหู่อย่างมาก

ใครเห็นก็ต้องนึกภาพทันทีว่า ถ้าทุกคนที่ตื่นแต่ตีห้า เพื่อมานั่งรถติดอยู่ในขณะนั้น สามารถขึ้นรถไฟฟ้าตอน ๐๗๐๐น. เพื่อเข้ามาทำงานตอน ๘ โมงเช้า ไม่ต้องคิดเลยว่าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นแค่ไหน เงินก็ประหยัดมหาศาล

ในการทำงานการเมือง บางครั้งจะมีบางเรื่องที่ถึงแม้ว่าอาจจะทำให้เสียคะแนนแต่เราก็ต้องพูด เพราะเป็นเรื่องที่สะท้อนความคิดที่ผิดพลาด และสร้างความเสียหายจริงๆ

เรื่องหนึ่งคือ ′รถคันแรก′ ซึ่งผมขอออกตัวจากใจจริงก่อนว่าผมขอ ′แสดงความยินดี′ กับทุกคน 1,300,000 คนที่จะได้ภาษีคืนส่วนหนึ่ง ก็หวังว่าจะเก็บเอาไว้ผ่อนรถที่ได้มา หรือจ่ายค่าประกัน ค่านำ้มัน ค่าอะไหล่ที่จะตามมานะครับ แต่รัฐบาลกำลังสรุปว่าความสุขของคน 1.3ล้านคนนั้น เป็นคำตอบสุดท้ายว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี

ซึ่งไม่ใช่แน่นอน

ไม่ใช่เพียแค่เรื่องรถติด เพราะเราก็ต้องยอมรับว่าที่รถติดเพิ่มขึ้นนั้น สาเหตุไม่ได้มาจาก ′รถคันแรก′ อย่างเดียวแน่นอน

แต่ผมนั่งคิดดูว่า รถจากโครงการนี้ ความยาวประมาณคันละสามเมตร ถ้าเอามาเรียงแถวต่อกันก็จะเท่ากับเกือบ 4ล้านเมตร หรือเท่ากับ 4,000 กิโล ถ้าเอาไปจอดไว้บนถนนสี่เลนจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ให้เต็มทุกเลน ก็ยังไม่มีที่พอสำหรับ ′รถคันแรก′ ทุกคัน

ผมก็เข้าใจนะครับ ว่าผู้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ อาจจะเคืองว่าเสียงที่ออกมาค้านและออกมาบ่นอาจเป็นเสียงของผู้ที่มีโอกาสมีรถมาก่อน และเหมือนกับมาพยายามปิดโอกาสของผู้ที่ยังไม่มี

แต่เราต้องเริ่มต้นที่ภาพใหญ่ก่อนครับ และถามว่า รัฐบาลควรมีนโยบาย ′กระตุ้น′ ให้มีการใช้รถยนต์มากขึ้นหรือไม่ ผมว่าแค่ตรงนี้ก็จบแล้ว แน่นอนทุกคนมีสิทธิที่จะซื้อรถยนต์ แต่รัฐเก็บ ′ภาษีบาป′ (ภาษีสรรพสามิต) จากรถยนต์มาตลอดก็เพราะรัฐรู้ดีว่าการใช้รถนั้นมีผลทางลบกับสภาพแวดล้อมกับสังคม รัฐไม่ได้เก็บภาษีบาปจากการซื้อบ้าน ไม่ได้เก็บจากการซื้อจักรยาน ก็เพราะสิ่งเหล่านั้นมีแต่ประโยชน์ ไม่มีพิษภัยเหมือนรถยนต์

ดังนั้นรัฐปล่อยให้ทุกคนที่มีสตางค์ซื้อรถยนต์ได้ แต่ก็ควรต้องเก็บภาษีจากเขาเพื่อนำเงินนั้นมาพัฒนารถเมล์บ้างสร้างรถไฟฟ้าบ้าง เพื่อที่จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่มีสตางค์ หรือผู้ที่เลือกที่จะไม่ใช้รถยนต์

รัฐจะเชียร์โครงการของตัวเองแค่ไหน รัฐก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคนล้านคนออกมาใช้รถไฟฟ้า ดีกว่ามีคนล้านคนออกมาใช้รถยนต์กันคนละคัน ดังนั้น ถ้ารัฐมีเงินอยู่แสนล้านบาท ผมถามว่ารัฐควรเอาเงินนั้นไปสนับสนุนการสร้างรถไฟฟ้า หรือการกระตุ้นให้คนซื้อรถเพิ่ม

มองอีกแง่มุมหนึ่ง ถ้ารัฐบาลจริงใจจะเพิ่มโอกาสให้ทุกคนได้ซื้อรถจริง ทำไมรัฐบาลไม่ลดภาษีให้มากกว่านี้และที่สำคัญ ทำไมไม่ลดอย่างถาวร ทำไมต้องมีเงื่อนไขเวลาที่จำกัด

คำตอบเดียวที่เป็นไปได่ก็คือเป็นเพราะ นโยบาย ′รถคันแรก′ นั้นเป็นเพียง ประชานิยมหาเสียงนั่นเอง

การกำหนดเวลาที่จำกัด นอกจากจะไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ยังไม่พร้อมในช่วงเวลานั้น แต่กลับเป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนซื้อรถยนต์ทั้งๆที่เดิมทีอาจไม่ได้คิดจะมีรถด้วยซำ้ไป สุดท้ายซื้อเพียงเพราะกลัว ′ขาดทุนกำไร′

ผมพบมาเยอะครับ จองรถเอาไว้ก่อนเพราะกลัว ′เสียสิทธิ′ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดจะมีรถเลย บางคนขับรถยังไม่เป็นด้วยซำ้ แต่เหมือนถูกบีบให้ต้องรีบจองไว้ก่อน และนอกจากนั้น ผมอยากรู้จริงๆว่าที่เข้าโครงการนี้ เป็นการซื้อรถ ′คันแรก′ จริงๆสักกี่คัน

และการกำหนดกรอบเวลาก็ทำให้มีการเร่ง ′กระตุ้น′ ความต้องการ ทั้งๆที่ความพร้อมยังไม่มี ได้ลดภาษีหลายหมื่นบาทก็จริง แต่กลายเป็นหนี้เกือบล้านบาท บวกกับค่าใช้จ่ายที่ตามมาอีกเท่าไร

ชาวนาที่ยังไม่มีที่ทำกินของตัวเอง หรือคนยากคนจนที่ยังไม่มีบ้านที่อยู่อาศัย เอาเงินไปช่วยพวกเขาน่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลมากกว่า

รัฐมีหน้าที่บริหารเงินภาษีให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด ใครได้เงินใครก็ชอบครับ
แต่ในกรณีนี้ผมว่าพรรคเพื่อไทยคิดผิด เพราะผมมั่นใจว่าแม้แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็รู้ว่ารัฐบาลคิดผิด สุดท้ายรถก็ติด คะแนนเสียงก็ไม่ได้ ผู้คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น งบรัฐบาลก็สูญไป

เพียงแต่ต้นทุนเพื่อไทยเขาไม่มี เพราะเขาไม่ได้ใช้เงินเขาเองเท่านั้น

โดยหลังจากการโพสต์ข้อความดังกล่าวทำให้มีสมาชิกเฟซบุ๊คเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook