คมนาคมไม่เบรก ขึ้นค่าทางด่วน 5 บาท กันยายนนี้
พฤณท์เปิดทางบีอีซีแอล ขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทาน ระบุไม่อยากให้เอกชนฟ้องร้อง พร้อมเห็นด้วยให้ กทพ.แบกแวตแทนผู้ใช้ต่อไป ด้าน กทพ.คาดจะขึ้นค่าผ่านทาง 5 บาท มีผล 1 ก.ย.ปีนี้
พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีการปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ตามสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2556 นี้ว่า ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พิจารณาเรื่องดังกล่าวตามขั้นตอนและให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทานระหว่าง กทพ. กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีซีแอล ซึ่งมีเงื่อนไขกำหนดปรับทุก 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค (ซีพีไอ) ที่เพิ่มขึ้น หากผลพิจารณาออกมาว่าต้องปรับขึ้นก็ต้องยอมรับ คงไม่สามารถยับยั้งได้ เพราะต้องคำนึงถึงสัญญาสัมปทานกับเอกชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นกรณีที่ไม่ให้ปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญามาแล้ว
"ผู้บริหารบีอีซีแอลได้มาพบผมแล้ว โดยแจ้งให้ทราบว่าในปีนี้จะครบ 5 ปี ที่ต้องขอปรับขึ้นค่าผ่านทาง ซึ่งผมให้ไปหารือในรายละเอียดสัญญากับ กทพ. และให้เสนอมาตามขั้นตอน โดยยอมรับว่าที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองไม่ให้ปรับเพราะกลัวว่าจะกระทบคะแนนเสียง และทำให้ กทพ.ถูกเอกชนฟ้อง ซึ่งนโยบายของผมเห็นว่าหากต้องปรับก็ต้องปรับ เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ" พล.อ.พฤณท์กล่าวและว่า นอกจากนี้ก็ให้ กทพ.ไปหารือผู้ที่เกี่ยวข้องว่าเหมาะสมหรือไม่กับการผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% ให้กับผู้ใช้ทาง เพราะที่ผ่านมา กทพ.ต้องแบกรับแวตแทนผู้ใช้ทางด่วนประมาณ 800 ล้านบาทต่อปีตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท และส่วนตัวเห็นว่า กทพ.น่าจะรับภาระนี้ต่อไป
นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า คาดว่าเบื้องต้นจะปรับขึ้นประมาณ 5 บาท ซึ่ง กทพ.จะเริ่มเจรจากับบีอีซีแอลในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และต้องประกาศล่วงหน้า ซึ่งอัตราใหม่จะมีผลในวันที่ 1 กันยายน 2556 ส่งผลให้อัตราค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ จาก 45 บาท เป็น 50 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ จาก 70 บาท เป็น 80 บาท และรถยนต์ 10 ล้อขึ้นไป จาก 100 บาท เป็น 115 บาท
"ส่วนสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ของบีอีซีแอล จะสิ้นสุดในอีก 9 ปีนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะต้องรอดูนโยบายว่าจะให้ กทพ.บริหารเอง หรือจะเจรจากับบีอีซีแอลเพื่อต่อสัญญาเพราะสัญญาเปิดทางไว้ แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่า หาก กทพ.บริหารเอง จะมีข้อดี คือ รัฐจะกำหนดขึ้นหรือลดราคาค่าผ่านทางได้ง่าย เพราะไม่ต้องเจรจากับเอกชน" นายอัยยณัฐกล่าว
สำหรับปริมาณการจราจรบนทางด่วนเมื่อเดือนธันวาคม 2555 เฉลี่ย 1.7 ล้านคันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 5 แสนคันต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 2 ล้านคันต่อวัน ภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะทำให้ กทพ.มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 58 ล้านบาทต่อวัน เป็น 61 ล้านบาทต่อวัน