กต.ใช้ความตกลงวอชิงตันแก้พระวิหาร
นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสนอให้ทางการไทย ใช้อนุสัญญาโตเกียว 1941 หรือ พ.ศ.2484 ในการแก้ไขปัญหากรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่ง กัมพูชา ขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ตีความคำพิพากษา ปี 2505 ว่า อนุสัญญาโตเกียวฯ ถูกจัดทำขึ้นในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้น ไทยมีความขัดแย้งกับฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ได้เป็นคนกลางไกล่เกลี่ย รัฐบาลไทยสมัยนั้นได้ประกาศเข้ากับญี่ปุ่น แต่ภายหลังสงครามโลกสิ้นสุด ไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจ ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายชนะสงคราม นำไปสู่ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งทำที่ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2489 หรือที่เรียกว่า ความตกลงวอชิงตัน ทำให้อนุสัญญาโตเกียว ถูกยกเลิกไป โดยไทยต้องคืนดินแดนอินโดจีนที่ได้มาในสมัยนั้นให้แก่ฝรั่งเศสส่วนข้อคิดเห็นจากบางกลุ่มที่ว่า ไทยควรประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องคณะกรรมการมรดกโลก คือ การขึ้นทะเบียน ดูแลสถานที่ซึ่งเป็นมรดกโลก ไม่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหาร เช่นเดียวกับข้อกังวลกรณีที่ กัมพูชา จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 17-27 มิ.ย.นี้ ก็ไม่มีอะไรที่น่าจะเป็นกังวล เพราะไม่มีวาระการประชุมใด ๆ เกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร อีกทั้ง การบรรจุวาระเข้าสู่การประชุม ต้องมีการหารือเตรียมการ โดยมีไทย ซึ่งเป็น รองประธานกลุ่มตัวแทนภูมิภาคเอเชียด้วยขณะที่ สำนักข่าวซีอีเอ็น ภาคเขมร รายงานคำพูดของ นายฟาย ซีฟาน โฆษกสำนักนายกฯเขมร ออกมาบอกวานนี้ว่า เขมรไม่รับรู้เรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. วิธีพูด วิธีคิดของเขมร คือ เป็นของเขมรทั้งหมด ส่วนนักการเมือง กระทรวงต่างประเทศ และกองทัพไทย มองเป็นพื้นที่ทับซ้อนมาโดยตลอด ยืนยันความเป็นเจ้าของแค่ครึ่งเดียวแบบนี้มีแต่เสียกับเสีย