เราไม่ใช่"ไม้ประดับ" สู้เต็มที่-ขาย"นโยบาย"
ปี่กลองของศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เชิดดัง นับถอยหลังสู่วันเลือกตั้ง 3 มีนาคม
แน่นอนว่า "สปอตไลต์" ย่อมจับอยู่ที่ 2 ผู้สมัครซึ่งเป็นตัวเต็งจาก 2 พรรคใหญ่อย่าง "แชมป์เก่า" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ และ "ผู้ท้าชิง" พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย
ข่าวสาร การนำเสนอส่วนใหญ่จึงโฟกัสไปที่ "สุขุมพันธุ์" กับ "พงศพัศ" แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.หาได้มีแต่ "จูดี้-พงศพัศ" และ "คุณชายหมู-สุขุมพันธุ์" เท่านั้นยังมีผู้สมัครรายอื่นๆ เข้าร่วมวงสร้างบรรยากาศให้สนามเลือกตั้ง กทม.คึกคักยิ่งขึ้น แม้มิใช่ประเภทบิ๊กเนม ขาใหญ่ แต่ก็มิอาจมองข้ามความคิดความอ่านได้ โดยเฉพาะประเด็นที่แต่ละคนนำเสนอ จุดกระแส หวังให้ผู้ว่าฯกทม.หยิบไปใช้
เริ่มต้นที่ "ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ" หรือ "ตู่ ติงลี่" ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.หมายเลข 3 มาพร้อมกับนโยบายมุ่งเน้นความสำคัญเรื่อง "ปัจจัย 4" คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค โดยเฉพาะคนรากหญ้า คนยากคนจน นับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการลงพื้นที่หาเสียง
ตู่ ติงลี่ มีแนวคิดว่า เขตพื้นที่ที่มีคนยากจนอาศัยอยู่ และประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองหนองน้ำนั้น จะสร้างแฟลต "เมตตาธรรม" ให้กับคนยากจน พร้อมมอบเอกสารสิทธิให้ ซึ่งสามารถนำเอกสารสิทธิไปจำนองกับธนาคารได้ แล้วนำเงินที่ได้ไปปลดเปลื้องหนี้สินนอกระบบ และขุดคูคลองเปิดทางเดินน้ำ
"การลงสมัครครั้งนี้มั่นใจเกินร้อย เพราะบ้านเมืองกำลังต้องการคนดี แต่หากไม่ได้เป็นผู้ว่าฯกทม. จะนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปนำเสนอให้กับผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ได้พิจารณา ในการลงสมัครครั้งนี้หลายคนอาจจะมองผมเป็นเพียงไม้ประดับ แต่ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมต้องการให้ประชาชนและคนอื่นๆ เห็นว่าผมมีกึ๋นมีแนวความคิดอย่างไร
"การลงพื้นที่นั้นจะเข้าถึงกลุ่มคนจนรากหญ้าและหาเสียงโดยใช้วิธีเคาะประตูตามบ้าน และพื้นที่ที่อยากจะทำด่วนมากที่สุดคือ พื้นที่บึงมักกะสัน คือจะทำแฟลตให้ชาวบ้านอยู่ จะปรับพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่นาปลูกข้าว เพื่อนำข้าวที่ได้ไปขายให้กับรัฐบาล รายได้ทั้งหมดจะนำไปช่วยเหลือคนจนทุกครัวเรือน" ร.อ.เมตตาระบุ
ขณะที่ "นายณัฏฐ์ดนัย ภูเบศอรรถวิชญ์" ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.หมายเลข 7 บอกว่าจะมุ่งเน้นในเรื่องความสะอาด, ความสะดวก, ความสบาย, ความสงบ 3 เดือนแรกจะทำให้ กทม.สะอาดให้ได้ ปรับปรุงให้ถนนมีความสะดวกสบายมากขึ้น และมุ่งเน้นให้ชาว กทม.ได้ออกกำลังกาย และจะทำให้คนกรุงเทพฯมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ภายใน 9 เดือนความสบายจะเกิดขึ้นกับคน กทม. มั่นใจว่านโยบายที่เสนอมานั้น หากไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯก็จะนำนโยบายเสนอให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่นำไปพัฒนา กทม.ต่อไป
"กลุ่มเป้าหมายในการหาเสียง จะมุ่งเน้นไปที่ประชาชนที่อยู่ชายขอบของกรุงเทพฯ คือ อยู่บริเวณชานเมือง ห่างไกลจากในเมือง เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักจะไม่ได้รับความสะดวกสบาย ผมคิดว่าในเมืองได้รับความสะดวกสบายมากเพียงพอแล้ว อยากจะให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่อยู่ชานเมืองหรือชายขอบตะเข็บของกรุงเทพฯบ้าง" เจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับธุรกิจอัลลอย ผู้มาอาสารับใช้ชาว กทม.กล่าว
"วรัญชัย โชคชนะ" ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.หมายเลข 2 ลงสมัครครั้งนี้เป็นครั้งที่ครึ่งโหลแล้วบอกว่า นโยบายหาเสียงจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาจราจรที่ตรงจุด โดยจะประสานงานกับรัฐบาล เร่งรัดติดตามการสร้างระบบขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯโดยเร็ว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการหาเสียง สำหรับการหาเสียงจะลงพื้นที่ทั้ง 50 เขต จะเริ่มจากพื้นที่สะพานใหม่ ดอนเมือง คาดหวังว่าจะมีคนเลือกประมาณ 50,000 เสียง
"หากไม่ได้รับการเลือกตั้งจะนำแนวนโยบายที่หาเสียงไว้ไปเสนอให้กับผู้ว่าฯกทม. เพราะว่าเราอยากให้คนกรุงเทพฯได้รับผลประโยชน์อย่างสูงที่สุด หากใครมองว่าผมเป็นเพียงไม้ประดับในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมไม่ได้ชื่นชมและผมไม่ชอบให้ใครมามองว่าเป็นเพียงไม้ประดับ แต่อย่างไรก็ตาม จะสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเต็มที่" นายวรัญชัยกล่าว
สุดท้ายคือเจ้าของนโยบายหลัก "กรุงเทพฯ 24 ชั่วโมง" ที่พกความมั่นใจมาเต็มเปี่ยม
"โฆสิต สุวินิจจิต" ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.หมายเลข 10 กล่าวว่า จะให้ กทม.มีบริการ 24 ชั่วโมง มีความปลอดภัย 24 ชั่วโมง มีการเดินทางที่สะดวกสบาย 24 ชั่วโมง สามารถทำมาหากินได้ 24 ชั่วโมง เปิดพื้นที่เรียนรู้ 24 ชั่วโมง และสุขภาพดี 24 ชั่วโมง โดยจะมีบริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ
"จะหาเสียงทั้ง 50 เขต และต้องการหาเสียงกับพลังเงียบ สาเหตุคนไม่เลือกเพราะว่าที่ผ่านมาคนมักจะไม่รู้ข้อมูลอย่างละเอียด ผมมั่นใจว่า จะเป็นตัวเลือกที่ประชาชนสนใจ การหาเสียงจะมุ่งไปที่คนที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
"ผมคิดว่าผมไม่ใช่ไม้ประดับสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะส่วนใหญ่คนที่ลงสมัครชิงผู้ว่าฯกทม.เพื่อต้องการรับใช้ประเทศชาติ ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะชอบหรือไม่เท่านั้นเอง" นายโฆสิตกล่าว และว่า หากไม่ได้เป็นผู้ว่าฯกทม. ยินดีถ้าผู้ว่าฯกทม.ที่ได้รับเลือกนำนโยบายที่เสนอไปพิจารณาทำให้เป็นรูปธรรมต่อไป"
นี่คือความมั่นใจของผู้สมัครที่หลายคนอาจมองเป็นเพียง "สีสัน" การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งตรงกันข้ามกับมุมมองของพวกเขาเหล่านั้น ที่มั่นใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าใครจะมองอย่างไร
หากเป็นไม้ประดับก็ถือเป็นไม้ประดับทรงค่า ที่ผู้ว่าฯคนใหม่สามารถหยิบจับเลือกใช้ เพื่อพัฒนาให้ กทม.สวยงามยิ่งขึ้นในทุกมิติ