เลือกตั้งผู้ว่าฯ เฟ้นผู้บริหาร-มือทำงาน ด้วยกลไก "ประชาธิปไตย"

เลือกตั้งผู้ว่าฯ เฟ้นผู้บริหาร-มือทำงาน ด้วยกลไก "ประชาธิปไตย"

เลือกตั้งผู้ว่าฯ เฟ้นผู้บริหาร-มือทำงาน ด้วยกลไก "ประชาธิปไตย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก็ไม่แปลกอะไร ที่วงเสวนาของ "ปราชญ์" ที่ตั้งวงสังเกตการณ์การรับสมัครผู้ว่าฯกทม. ตั้งข้อสังเกตว่า บรรยากาศการชิงหมายเลขผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. น่าเบื่อหน่าย ที่น่าเบื่อ ท่านเฉลยว่าเพราะ เหมือนๆ กันทุกครั้ง

บางท่านให้ความเห็นว่า การหาเสียงด้วยนโยบายต่างๆ ของผู้ว่าฯกทม. เอาเข้าจริงก็จะทำไม่ได้เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมายไหนจะต้องไป "ดีล" กับรัฐบาลกลางที่นั่งทับซ้อนอยู่ไหนยังจะต้องไปสร้างสมดุลกับสภานิติบัญญัติของท้องถิ่น ได้แก่สภาของ ส.ก. ไหนยังข้าราชการ กทม. ซึ่งมีวิธีคิดวิธีทำงานในแบบ "ราชการ" ความเบื่อหน่ายของผู้ร่วมวงเสวนา อาจจะมาจากการมองไม่เห็นประสิทธิภาพของ กทม. มองเห็นแต่ด้านมืด ด้านร้ายของการเลือกตั้งบุคคลไปทำหน้าที่บริหารกรุงเทพฯ ถามว่าการเลือกตั้ง กทม. และพิธีกรรมต่างๆ นั้น เหมือนกันทุกครั้งจริงหรือ หากติดตามข่าวสาร และเปรียบเทียบด้วยใจเป็นธรรม จะเห็นความแตกต่างและความเปลี่ยนแปลง

ผู้สมัคร 16-17 คนในวันแรก อาจหน้าเดิมก็จริง อย่าง วรัญชัย โชคชนะ, สมิทธิ์ สมิทธินันทน์ แน่นอนว่าไม่นับว่าเป็นคนใหม่ แต่พรรคการเมืองหลักๆ ที่ลงแข่ง ตัวละครเปลี่ยนไปอย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หมายเลข 16 ก็ไม่นับเป็นคนใหม่ แม้จะได้เบอร์ใหม่ คาดว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ลงสมัคร จะไม่ใช้แทคติคเดิมๆ อีก หน้าใหม่จริงๆ ก็อย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ถอดเครื่องแบบมาใส่เสื้อเพื่อไทย ได้หมายเลข 9 แค่ "หมายเลข" ก็สนุก และเรียกเสียงวิจารณ์ครื้นเครงเป็นบรรยากาศ "ประชาธิปไตย" ของการแสดงความคิดความเห็น ความชอบ-ไม่ชอบ ซึ่งจะไม่มี หากเป็นระบบแต่งตั้ง

ประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งผู้ว่าฯคือ "ประสิทธิภาพ" ของผู้ว่าฯกรุงเทพฯ

หากทำงานได้ดี ตอบสนองปัญหา สื่อสารกับประชาชนได้ คงยากที่จะหาเหตุมาเบื่อ  ประสิทธิภาพขึ้นกับวิสัยทัศน์ และความสามารถเชิงบริหารของบุคคลนั้นมีเพียงพอจะขับเคลื่อน กทม.หรือไม่  บุคลิกลักษณะเฉพาะตัวเป็นผู้ใฝ่ใจในการทำงาน สนใจปัญหา และตั้งใจจะแก้ไขมากน้อยเพียงใด  หากลงสมัครในนามพรรค ก็ยังขึ้นกับวิสัยทัศน์และนโยบายของพรรค นอกเหนือจากวิสัยทัศน์และนโยบายของตัวผู้ว่าฯเอง  หากพรรคการเมืองและตัวบุคคล ไม่มีนโยบายและวิสัยทัศน์ต่อปัญหาของกรุงเทพฯ ไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ การทำงานย่อมล้มเหลว โดยไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดช่วยได้เป็นผลอันมาจากเหตุที่เข้าใจได้ง่ายๆ  ปัญหาคือ ความล้มเหลว ในการทำงานตำแหน่งสำคัญ ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบที่กว้างขวาง

โพลสวนดุสิต  ระบุว่า ประชาชนมองว่า การเลือกตั้ง จะรุนแรง/ดุเดือด ร้อยละ 52.17 และไม่รุนแรง/ดุเดือด ร้อยละ 47.83

รุนแรงและดุเดือด ประเด็นหนึ่ง เพราะเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 พรรคใหญ่ ที่มีแนวทาง แนวคิดต่างกัน

ผ่านการปะทะในระดับชาติ เมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายแพ้ ครั้งนี้ จึงไม่ต้องการแพ้อีก ขณะที่พรรคเพื่อไทย ยังไม่เคยมีผู้ว่าฯกทม.มาก่อนเป็นการต่อสู้ภายใต้กฎกติกาของกฎหมาย และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้วยกฎกติกาง่ายๆ ชนะได้ทำงาน บริหาร แก้ปัญหากรุงเทพฯไป   แพ้ก็กลับบ้าน  แพ้-ชนะ เป็นเรื่องที่ประชาชนตัดสิน ด้วยเหตุผลเรื่องผลงาน ความพึงพอใจในด้านต่างๆ ทำงานแล้วชอบ-ไม่ชอบ 4 ปี ก็มาเลือกตั้งใหม่ เป็นวงจรปกติของระบอบประชาธิปไตย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook