ทำไมคนกทม.เลือก "พงศพัศ" มากกว่า "คุณชายหมู"?
แม้ผลของเอแบคโพลล์ที่ออกมาในโค้งแรก คะแนนนิยมของพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย หมายเลข 9 จะมีคะแนนนิยมนำม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 16 ก็ตาม แต่คงไม่ฟันธงได้ว่า พล.ต.อ.พงศพัศ จะเป็นผู้ชนะ
นั่นหมายความว่า การตัดสินใจโค้งสุดท้ายอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะชาวกทม. กว่าร้อยละ 50 ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร
ผลที่ออกมาช่วงแรกก็คือว่า คนกทม. ส่วนใหญ่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผลสำรวจของเอแบคโพลล์ในช่วงแรกของการสำรวจชี้ให้เห็นว่า คะแนนนิยมที่เคยสูสีกันระหว่างพล.ต.อ.พงศพัศ กับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในช่วงก่อนวันรับสมัครเริ่มเปลี่ยนแปลงไป
กล่าวคือ พล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนนิยมเพิ่มสูงขึ้นทิ้งห่างม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หลังจากวันสมัครรับเลือกตั้ง
โดยส่วนหนึ่ง ชาวกทม. อยากเห็นความใหม่ของพล.ต.อ.พงศพัศ อาทิ ผลงานที่เคยสะสมมาในอดีตช่วงการรับราชการตำรวจ
ในทางกลับกัน ยังไม่พบผลงานที่โดเด่นของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หรือมีข่าวปัญหาความขัดแย้งกับรัฐบาลในทางลบ เช่น การสร้างสนามฟุตซอลเสร็จไม่ทัน และคดีความที่กำลังถูกดีเอสไอสอบสวน
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการสอบถามชาวบ้านเชิงลึก เราพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในกทม. เนื่องจากชาวบ้านอยากเห็นความใหม่ โดยเฉพาะชาวบ้านที่คิดจะตัดสินใจเลือกพล.ต.ท.พงศพัศ นั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยรับใช้ประชาชนตลอดช่วงที่รับ ราชการตำรวจ
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามนโยบายและความเป็นไปได้ ประชาชนเชื่อว่านโยบายที่พล.ต.อ.พงศพัศ หาเสียงเป็นเรื่องที่จับต้องได้ เช่น การแก้ปัญหาปากท้อง การลดค่าครองชีพต่างๆ
สิ่งต่อมาก็คือ สิ่งต่างๆ ที่พล.ต.อ.พงศพัศ ได้ประกาศหรือได้บอกกับประชาชนคือ การสร้างความสุข และเมื่อพล.ต.อ.พงศพัศ สมัครในนามของพรรคเพื่อไทย ประชาชนก็ยิ่งมั่นใจว่า นโยบายนั้นๆ น่าจะเป็นไปได้ตามที่ประกาศไว้
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมพล.ต.อ.พงสพัศ ถึงมีคะแนนนิยมนำม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หลังจากวันรับสมัคร
ส่วนผู้สมัครอิสระนั้น จากการเปรียบเทียบกับผู้สมัครที่มาจากพรรคการเมือง พบว่าปัจจัยเอื้อต่อผู้สมัครอิสระ ยังมีไม่มากนัก แต่ผลสำรวจก็มีความชัดเจนว่า ผู้สมัครในนามอิสระที่มีคะแนนเหนือกว่าผู้สมัครอิสระคนอื่นๆ พบว่า คะแนนก่อนสมัครหรือหลังสมัครไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยหนึ่งก็คือ ยังผู้สมัครอิสระเหล่านั้น ยังไม่มีความโดดเด่นด้านนโยบาย เรื่องความเป็นไปได้ของนโยบายหรือการได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ยังน้อยอยู่
ขณะเดียวกัน ในยุคนี้ผู้สมัครอิสระแตกต่างจากยุคของดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมีปัจจัยแวดล้อมทางการเมืองต่างกัน เพราะสมัยนี้ไม่มีความขัดแย้งทางการ เมืองระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา หรือยังไม่เห็นช่องว่างทางการเมือง
มากกว่านั้น นโยบายของดร.พิจิตต ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มากกว่ายุคนี้อีกด้วย เพราะดร.พิจิตต มีความรู้ ความสามารถสอดรับกับความต้องการของประชาชนในยุคนั้น แม้จะมีความเบื่อหน่ายทางการเมืองเหมือนๆ กันก็ตาม และความเข้มข้นทางการเมืองต่างกันก็ต่างกันด้วย
สุดท้ายก็คือว่า เมื่อดูผู้สมัครอิสระแล้ว ยังไม่มีใครที่มีแนวทางเหมือนกับดร.พิจิตต ในยุคนั้น
ขณะเดียวกัน ผู้สมัครอิสระอย่างดร.พิจิตต ที่ชนะการเลือกตั้ง มีฐานเสียงจากพรรคการเมืองใหญ่มาเลือกด้วย แต่ยุคนี้ยังไม่มีจุดเชื่อมต่อหรือมีฐานการเมืองมาเลือกผู้สมัครอิสระ
ผอ.เอแบคโพลล์ จึงมั่นใจว่าผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหญ่น่าจะได้รับการเลือกตั้งมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังมีเวลาอีกกว่า 30 วัน ซึ่งอาจจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ หรือจะต้องวิเคราะห์กันต่อไป ทั้งนี้ ยังคาดว่าจะมีคนกทม. มาใช้สิทธิ์ประมาณร้อยละ 60 หรือมากกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่มีคนมาใช้สิทธิ์เพียงร้อยละกว่า 50
ส่วนนโยบายขายฝันนั้น ดร.นพดล มองว่า เป็นเรื่องปกติของทุกพรรคการเมืองอยู่แล้ว
ประเด็น สำคัญก็คือว่า หากพรรคเพื่อไทย ส่งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย แทนพล.ต.อ.พงศพัศ ก็เชื่อว่า คะแนนจะสูสีกัน เพราะปัจจัยต่างกัน หรือคนอยากเห็นความใหม่มากกว่า
แม้ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะมีดีกรีเป็นแชมป์เก่า แต่ผลงานที่ผ่านมาถือว่าไม่เข้าเป้า
...ท้ายที่สุดต้องคอยดูว่า ผลโพลที่ออกมาในช่วงโค้งสุดท้ายจะเป็นอย่างไร
ที่สำคัญก็คือว่า "ใคร" จะเอาใจ "เด็ก" ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งได้เก่งกว่ากัน
เพราะเขาและเธอเหล่านั้นคงไม่เห็น "เสาไฟฟ้า" หรือ "คุณชาย" ดีกว่าการสอบ GAT/PAT แล้วทำให้มีที่นั่งเรียนในมหา′ลัย แน่นอน (ฮา)