เพ้อฝัน? นโยบายปั่นจักรยานในเมืองกรุง

เพ้อฝัน? นโยบายปั่นจักรยานในเมืองกรุง

เพ้อฝัน? นโยบายปั่นจักรยานในเมืองกรุง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เริ่มคึกคักและเข้มข้นขึ้นทุกทีสำหรับศึกเลือกตั้งผู้ว่า "พ่อเมืองเสาชิงช้า"

จัดเต็มหลากหลายนโยบายเพื่อให้คนกรุงเทพฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยเฉพาะนโยบายที่น่าสนใจคือ นโยบายปั่นจักรยาน ลดมลพิษ เพิ่มพื้นที่สีเขียว

ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครจากตัวแทนพรรคใหญ่หรือผู้สมัครสังกัดอิสะ ต่างชูนโยบาย "ปั่นเพื่อกรุงเทพฯ กันอย่างสุดฤทธิ์"

 

อย่าง "คุณชายหมู" ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร แชมป์เก่าพ่อเมืองกรุงเทพ ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 16 เสนอแนวนโยบายเกี่ยวกับการปั่นจักรยานว่า

"มีนโยบายจะเพิ่มเส้นทางจักรยานอีก 30 เส้นทาง หลังจากสมัยที่แล้วได้เพิ่มเส้นทางจักรยาน 28 เส้นทาง รวม 200 กิโลเมตร พร้อมกับจะปรับปรุงตะแกรงครอบท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ ให้เป็นแนวขวาง เพื่อไม่เป็นอันตรายกับผู้ใช้จักรยาน และจะส่งเสริมให้ข้าราชการ กทม.ปั่นจักรยานมาทำงาน โดยศาลาว่า การกทม.แห่งใหม่ ดินแดง จะจัดให้มีห้องอาบน้ำและห้องแต่งตัวให้ข้าราชการปั่นจักรยานมาเปลี่ยนเสื้อ ผ้าที่ทำงานได้ รวมทั้งจะส่งเสริมโครงการให้เช่าจักรยานในราคาถูกเพิ่มเติมบริเวณเส้นทางบี ทีเอสให้ได้ 10,000 คัน"

 

ด้าน "จูดี้ตำรวจยิ้มแย้ม" พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 9 ก็ไม่น้อยหน้า เสนอนโยบายเกี่ยวกับการปั่นจักรยานเช่นกันว่า

"จะรณรงค์ให้ประชาชนหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น  เพื่อลดมลภาวะใน กทม. โดยจะทำทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยารวมระยะทาง 8 กิโลเมตร โดยไม่ต้องทำการเวนคืนที่ดิน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณ จำนวน 300 ล้านบาท  นอกจากนี้ จะดำเนินการปรับปรุงฝาท่อระบายน้ำและสิ่งกีดขวางบนพื้นผิวจราจรที่เป็น อุปสรรคในการปั่นจักรยาน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุให้เรียบร้อยและเพื่อความสะดวกต่อการสัญจร โดยยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ในทันที"    

 

ส่วนผู้สมัครอิสระ "เจ้าพ่อการวางผังเมือง" อย่าง นายโสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 4 สังกัดอิสระ เน้นนโยบายปั่นจักรยานเป็นพิเศษว่า

หากแต่ละจุดมีจักรยานให้เช่า 40 คัน รวม 40,000 คัน ๆ ละ 3,000 บาท (ราคาที่เป็นจำนวนมาก) ก็เป็นเงินเพียง 160 ล้านบาท  ค่าสถานที่และจัดการอีกประมาณ 1 เท่าตัว  จะเห็นได้ว่าโครงการนี้สำเร็จได้ด้วยเงินเพียงไม่เกิน 400 ล้านบาท  ยิ่งหากมีการส่งเสริมการใช้จักรยานให้เช่าขี่ไปทำงานหรือไปติดต่อธุระใด ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรจักรยานบนท้องถนนได้ ก็จะทำให้การขี่จักรยานยิ่งปลอดภัยขึ้น

ในทางการเงิน ค่าเช่าจักรยานขี่ในแต่ละวัน (วันหนึ่งได้หลายเที่ยว) อาจเป็นเงินเพียง 20 บาท โดยมีกำไรสุทธิ 20% หรือเพียง 4 บาท  เมื่อโครงการอยู่ตัวแล้วในแต่ละวันอาจมีผู้เช่าเพียง 30% ของรถทั้งหมด คือมีผู้เช่า 12,000 คันจากทั้งหมด 40,000 คัน ในปีหนึ่งก็จะมีรายได้สุทธิ  17.52 ล้านบาท หรือมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.4% ซึ่งแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ขาดทุน 



แต่ก็มีคำถามสำคัญให้ได้คิดอย่างหนัก "สวนกระแสกลุ่มคนอยากปั่นจักรยานในเมืองหลวงว่า สถานการณ์การคมนาคมในกรุงเทพฯ เหมาะแก่การ "ปั่นจักรยาน" จริง ๆ หรือ???

ลองมาฟังความเห็นกลุ่มคนต่าง ๆในโลกออนไลน์ว่าคิดอย่างไรกับนโยบายนี้


Rattha Kampeerathammo "ผมอยากให้มีเลนจักรยานมาก (มากๆๆๆๆ) แต่ทำให้กฎจราจรใช้บังคับอย่างจริงจังก่อนดีกว่า, ผมกลัวคนปั่นจักรยานจะตายก่่อน"

Sand Dnas  "ถ้าทำได้ผมเชื่อว่ามีคนอีกเยอะที่พร้อมจะจอดรถทิ้งไว้บ้านแล้วปั่นจักรยานไป ทำงาน เพื่อนผมหลายๆ คนมีรถขับปั่นจักรยานซึ่งก็หลายสิบคน เหตุผลง่ายๆ ปั่นตอนนี้ก็ได้ แต่ถ้าไม่มีเลนจักรยานกับกฏรองรับเท่ากับเอาชีวิตไปทิ้งเปล่าๆ"

Wanwisa Thanomrak "ถ้า สามารถสร้างเลนส์ให้ปั่นจักรยานได้ โดยที่ไม่มีมอไซค์ขึ้นมาวิ่งเหมือนบนฟุตบาท(ในปัจจุบัน) ก็คงจะเป็นหนึ่งในนั้นที่จะปั่นจักรยานในกทม. และจะปั่นมาทำงาน นอกจากจะเลี่ยงรถติดได้แล้ว ยังได้เรื่องสุขภาพอีกด้วย (ไม่ันับควันรถนะ)"

ส่วนในกลุ่ม Love Conquers All  ซึ่งเป็นกลุ่มสนทนาประเด็นเกี่ยวกับสังคมก็ตั้งหัวข้อประเด็นดังกล่าวเช่นกันว่า

"ดี ครับ ทำให้คนปั่นจักรยานให้มากเป็นดี แต่อย่าบ้าจี้ อย่าลืมว่าตอนนี้จักรยานเป็นกระแส ฮิตกันเป็นบ้า เดี๋ยวสักพักก็ซา เหมือนฮิตเล่นกล้อง dslr พักนึงนั่นแหละ ถือกันเต็มบ้านเต็มเมือง ก่อนที่จะรู้ตัวว่าฝีมือตัวเองไม่ได้ถ่ายได้ดีกว่ากล้องคอมแพคเลย"

"เคลียร์ทางเท้าก่อน ไม่ก็ยกรถออกครึ่งหนึ่งของ กทม ก่อนนะแล้วค่อยคุยเรื่องจักรยาน"

"ถ้าจะทำแล้วช่วยทำเลนจักรยานติดแอร์ หรืออย่างน้อยแค่ติดร่มไม้ใบบังอะไรให้หน่อยก็น่าจะดี แบบว่าทำเหมือนเป็นเกาะกลาง ปลูกต้นมะม่วงคลุม สวยเก๋ไปอีกแบบ พอหน้ามะม่วง เหนื่อยๆ ก็สอยมะม่วงมากินตอนปั่นเหนื่อยๆ"


เหล่านี้คือ "อีกเสียงสะท้อนหนึ่ง" ที่มีต่อนโยบาย "ปั่นจักรยานในเมืองหลวง"


คำถามที่น่าสนใจ (ต่อผู้เสนอนโยบายปั่นจักรยาน) ก็คือ กทม.จะทำอย่างไรสภาวะปัจจุบันที่ "เลนพิเศษ" สามารถกลายเป็นเลนปกติได้ทุกเมื่อ ขอให้สังเกตว่า เลนถนนสำหรับรถโดยสารประจำทาง หลายครั้งก็กลายเป็นเลนปกติที่รถทุกคันวิ่งกันได้ทั่วไป

ไหนจะทางเท้าที่มีไว้สำหรับ ตั้งแผงเร่ขายของและเป็นเลนสำหรับจักรยานยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วนมากกว่าที่จะมีไว้สำหรับเดินไปยังจุดหมาย

ยังไม่รวมถึง "ความปลอดภัย" ของผู้ใช้จักรยานบนนถนนใหญ่ที่พร้อมจะ "เข้าโรงพยาบาล" จากอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อจาก "ความไร้ระเบียบวินัยของผู้ใช้รถใช้ถนน" (ไม่ใช่ความไร้น้ำใจ)

ไหนจะเรื่องสุขอนามัยของผู้ใช้จักรยานที่ต้องเผชิญมลพิษบนท้องถนน

หรือห้องอาบน้ำสำหรับผู้ใช้จักรยานปั่นไปทำงานเพราะคงไม่ดีแน่ๆ ถ้ามีกลิ่นกายและเหงื่อหลังจากการปั่นจักรยานอบอวนภายในที่ทำงาน


เพราะฉะนั้นนโยบายปั่นจักรยานจึงไม่ใช่เรื่องนโยบายหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของ "การปฎิวัติในการใช้ชีวิตของคนในเมืองหลวง"

ก็เลยมีคำถามไปยังผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่เสนอนโยบายปั่นจักรยานในเมืองหลวงว่า

ขอทางเท้าคืนให้แก่คนเดินถนนก่อนได้ไหม???


                                                                               พันธวิศย์  เทพจันทร์



 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook