"ประชานิยมกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม."

"ประชานิยมกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม."

"ประชานิยมกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม."
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ประชานิยม" ระบาดถึงการเมืองระดับท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าให้แล้ว

นักการ เมืองยุคนี้ช่างมั่นใจเสียจริงว่า คนไทยจำนวนมาก "ชอบของฟรี ราคาถูก" และเชื่อด้วยว่า คน กทม.อีกไม่น้อยจะหลงเชื่อลงคะแนนให้อย่างว่าง่าย

ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. บางคนมีปากสักแต่ว่า ขายนโยบายไปเรื่อยโดยไม่คิดหน้าคิดหลังว่า มันทำได้จริงมั้ย ทำแล้วคุ้มค่ามั้ย ผลาญเงินภาษีหรือเปล่า

พูดไปโดยไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ ข้อดีข้อเสีย ตลอดจนผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา

ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วจากโครงการสร้างโรงพักใหม่ทั่วประเทศ , รับจำนำข้าว และรถคันแรก ซึ่งเราใกล้เห็นความเสียหายที่จะตามมาแล้ว

"พงศพัศ พงษ์เจริญ" หมายเลข 9 พรรคเพื่อไทย ขายนโยบาย "รายวัน" เกินโหลแล้ว อาทิ สร้างทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ฝั่งยาว 17 กิโลเมตร, สร้างรถไฟรอบสวนจตุจักร, ทำศูนย์โอท็อปใต้ดินที่ตลาดนัดจตุจักร, รถเมล์ปรับอากาศและไม่ปรับอากาศฟรี, รถรางติดแอร์วิ่งฟรีรอบเกาะรัตนโกสินทร์, สร้างห้องน้ำทุกป้ายรถเมล์, เรือข้ามฟากและเรือคลองแสนแสบฟรี , เบี้ยยังชีพคนชรา 1,200 บาท และค่าบริการบีทีเอส 20 บาทตลอดสาย

"สุขุมพันธุ์ บริพัตร" หมายเลข 9 พรรคประชาธิปัตย์ กลัวสู้ไม่ได้ ขายประชานิยมกับเขาบ้าง อาทิ ภายในปีแรกลดค่าโดยสารบีทีเอสส่วนต่อขยายเหลือ 5-10 บาท, ภายใน 4 ปี ฟรีทุกเส้นทางต่อขยาย, ไม่ป่วยทั้งปีรับฟรี 1,000 บาท, รถรับส่งนักเรียนฟรี และฟรี Wi-Fi ความเร็วสูง 5,000 จุด

ทางด้าน "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส" ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 11 ช่วงแรกไม่คิดถึงประชานิยม อาศัยแนวนโยบายนามธรรมเข้าสู้ แต่ทีมงานเห็นท่าไม่ไหว เพราะคู่แข่งจัดประชานิยมหนักเหลือเกิน จึงจำใจเลียนแบบบ้าง อาทิ จัดทุนศึกษาต่อต่างประเทศ 1 ทุนต่อ 1 เขต, รถแอร์ฟรี และตั้งโรงทาน

จากสารพัดประชานิยมข้างต้น คนกรุงลองนั่งคิดด้วยสามัญสำนึกดูซิว่า มันทำได้หรือไม่ ทำแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น

เอา แค่ไอเดียสร้างห้องน้ำทุกป้ายรถเมล์เรื่องเดียว มีคำถามตามมามากมายว่า คุณจะตั้งตรงไหน ใครจะดูแลน้ำไฟ ความปลอดภัย ความสะอาด สร้างแล้วกระทบใครบ้าง ฯลฯ

ถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ มีผู้ว่าฯกทม.คนหนึ่งทำโครงการติดตั้งแท่นน้ำดื่มสะอาดใน กทม. ตอนนี้กลายเป็นก๊อกร้างหมดแล้ว นี่ยังคิดอุตริสร้างส้วมหลายพันจุดทั่วกรุง แค่นึกภาพบวกกลิ่นก็สยองแล้ว

อย่าให้ผมยกไอเดียอื่นๆ เลย มันมีค่าความเป็นไปได้เกือบศูนย์ ยิ่งเมื่อคำนึงถึงเรื่อง "เม็ดเงิน" ด้วยแล้ว มันติดลบแน่นอน

งบ ประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ของ กทม.มีจำนวนประมาณ 60,000 ล้านบาท แยกเป็นงบประจำ 47,225 ล้านบาท งบลงทุน 9,520 ล้านบาท และงบกลาง 3,254 ล้านบาท ในงบกลาง แยกเป็น งบดำเนินการ 1,720 ล้านบาท งบลงทุน 1,534 ล้านบาท

สรุปแล้วผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่มีงบลงทุนให้ใช้พัฒนาในปีนี้ประมาณ 11,054 ล้านบาท เท่านั้น ส่วนปี 2557 มันคงไม่มากไปกว่านี้สักเท่าไหร่นัก เว้นเสียแต่ผู้ว่าฯคนใหม่จะมีนโยบายหารายได้ตัวใหม่เพิ่มขึ้น (ยังไม่มีใครหาเสียงเรื่องนี้แม้คนเดียว)

ความจริง แล้วเงินจำนวนนี้สมควรถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนกรุง เรื่องหลักๆ สำหรับคนเมืองหลวงคือ มีความปลอดภัยในชีวิต, สุขภาพและสิ่งแวดล้อมดี, น้ำไม่ท่วม และการจราจรติดขัดน้อยลงกว่าปัจจุบัน

มีใครบ้างนึกถึงรถฟรี, เรือฟรี, ส้วมทุกป้ายรถเมล์, ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา, รถรางติดแอร์รอบเกาะกรุง และรถไฟรอบสวนจตุจักรบ้าง

ผมไม่ห่วงหรอกครับว่า "พูดแล้วไม่ทำ" ออกจะยินดีเสียอีก ห่วงก็แต่พูดแล้วดันทุรังจะทำให้ได้นั่นแหละ

เงินแค่หมื่นกว่าล้านจะพอให้พงศพัศหรือสุขุมพันธุ์ใช้ "ลด แลก แจก แถม" เหรอครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook