โสภณเสนอแผนพัฒนาที่อยู่ข้าราชการ
วันนี้( 8 ก.พ.) นายโสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เบอร์ 4 สังกัดอิสระ ได้เปิดแผนนโยบายเกี่ยวกับการจัดการที่อยู่อาสัยเพื่อข้าราชการในเฟซบุ๊กส่วนตัว "โสภณ พรโชคชัย" ว่า
ในปัจจุบันที่อยู่อาศัยของข้าราชการกทม. โดยเฉพาะในระดับล่างยังไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงจึงควรมีมาตรการจัดหาที่อยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ ยิ่งกว่านั้นสภาพที่อยู่อาศัยของข้าราชการกทม.ในหลายแห่งยังมีสภาพทรุดโทรม ขาดการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมทำให้มีการเสื่อมสภาพเร็ว
จากการลงพื้นที่ ณ บริเวณแฟลต กทม. ซ.ประชาอุทิศ 90 ในวันนี้พบว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มีสภาพดีที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ยังขาดการบำรุงรักษาเท่าที่ควร ในจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ 800 หน่วย มีผู้ใช้สอยจริงประมาณครึ่งเดียวซึ่งอาจเป็นเพราะขาดความยืดหยุ่นในการจัดผู้เข้าอยู่อาศัย จากการสังเกตยังพบว่าการบำรุงรักษายังควรได้รับการปรับปรุง
สำหรับแนวทางในการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการและลูกจ้างกทม. ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 4 มีข้อเสนอแนะว่า (1) กทม.ควรจัดเช่าที่อยู่อาศัยจากภาคเอกชนกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ แทนที่จะก่อสร้างเป็นเคหะชุมชน ซึ่งจัดหาได้เพียงไม่กี่แห่ง แต่หากทำการเช่าจะสามารถกระจายได้ทั่วไปตามความต้องการ ซึ่งจะทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้สอย และไม่เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเอง (2) ในกรณีข้าราชการและลูกจ้างที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยก็อาจเจรจากับผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ เช่นการเคหะแห่งชาติ และภาคเอกชนทั่วไป เพื่อขายที่อยู่อาศัยให้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เพราะผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเสียค่าการตลาดจากการขายจำนวนมากให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างกทม.
นอกจากนี้ในเข้าวันนี้ ดร.โสภณ ยังไปเยี่ยมศูนย์เยาวชนในบริเวณใกล้เคียงซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลว่ามีเยาวชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมากนับร้อยคนต่อวัน แต่ทางศูนย์ยังขาดงบประมาณในการติดเครื่องปรับอากาศตามแผนที่วางไว้ ดังนั้นหากดร.โสภณ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะเร่งรัดการจัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ ซึ่งเป็นงบประมาณจำนวนไม่มากนัก แต่เอื้อประโยชน์ต่อภาคสังคมเป็นอย่างยิ่ง
ดร.โสภณ ยังได้พบกับผู้อำนวยการศูนย์สาธารณสุขและประธานชมรมผู้สูงอายุพร้อมสมาชิก ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงแฟลตกทม.นี้ โดยได้นำเสนอนโยบายแปลงศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนตลอดจนการ ส่งเสริมกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุซึ่งยังขาดแคลนอุปกรณ์อยู่หลายรายการ
จะเห็นได้ว่าในการบริหารงบประมาณของกทม.ยังขาดการจัดสรรงบประมาณด้านสังคมอย่างเพียงพอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วใช้งบประมาณไม่มาก แต่มักจะเบิกจ่ายช้า ซึ่งควรเร่งรัดเป็นอย่างยิ่ง