จับเข่า′เจ้าสำนัก′โพล โต้ข้อหา′รับจ้าง-ชี้นำ′

จับเข่า′เจ้าสำนัก′โพล โต้ข้อหา′รับจ้าง-ชี้นำ′

จับเข่า′เจ้าสำนัก′โพล โต้ข้อหา′รับจ้าง-ชี้นำ′
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มีโพลหลายสำนัก หลายเจ้า ตบเท้าออกมาประกาศผลสำรวจได้กันอย่างพึ่บพั่บ

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นอิสระ ชี้นำ หรือพานถูกกล่าวหาว่า "โพลรับจ้าง"

พรรคไหนที่ผลโพลเป็นบวกก็ยิ้มรับ แต่พรรคไหนที่ผลโพลเป็นลบก็เอะอะโวยวาย ว่าโพลชี้นำ กลายเป็นเรื่องเป็นราว ถึงขนาดบางคนรีบเดินหน้าเข้าร้องเรียนต่อ กกต.ให้ยุติการนำเสนอผลโพลเพื่อความยุติธรรมในการแข่งขัน

หัวอก "เจ้าสำนักโพล" ที่โดนอย่างนี้ ย่อมมีความรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้น

ลองมาฟังเสียงสะท้อน บรรดาเจ้าของสำนักโพลต่างๆ ว่ามีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร

"สุขุม เฉลยทรัพย์" ผอ.สวนดุสิตโพล บอกว่า โพลที่ทำออกมาเมื่อมีผลสรุปแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของการแข่งขัน เมื่อผลออกมามักจะมีประเด็นซึ่งเป็นข้อสะท้อนต่างๆ แต่ปกติการทำโพลในลักษณะนี้ยังไม่ค่อยถูกโจมตีเรื่องการชี้นำนัก ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่มีบ้างเรื่องที่ผลโพลตกเป็นรอง ผลโพลไม่ถูกใจ ทั้งนี้การออกมาวิพากษ์วิจารณ์โพลก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา และเป็นสิ่งที่สำนักโพลต้องรับฟังข้อเสนอแนะคิดเห็นต่างๆ ในการที่นำมาใช้ทำให้การดำเนินงานของโพลมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการกลับมาทำการตรวจสอบของโพลแต่ละสำนัก

"โพลที่ออกมาก็ ผ่านกระบวนการทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการทั้งหมดแล้ว สำหรับคนที่รับรู้ผลโพลนั้นจะนำไปใช้เพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ เท่านั้น ทั้งนี้จากการสำรวจของสวนดุสิตโพล เรื่องโพลกับการชี้นำ มีประมาณ 5% ที่บอกว่าโพลมีส่วนในการทำให้คล้อยตามในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่มีใครในใจ"

 

อย่างไรก็ตาม เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่จะไปตกอยู่ที่ไม่มีผล เพราะว่าแต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อในการตัดสินใจของตัวเองมากกว่า ถ้าดูตามรูปแบบนี้ ถ้าดูอีกส่วนหนึ่งเรื่องของการทำโพลหรือการสำรวจคนที่ยังไม่มีใครในใจ จะได้ผล 2 ทางกับผู้ที่มีคะแนนน้อยกว่า คือ 1.ไปลงคะแนนให้เพราะความสงสาร 2.ไม่ลงคะแนนให้เพราะถึงอย่างไรก็แพ้ สำหรับคนชนะก็มีผล 2 ทางเช่นกัน 1.ไม่ต้องออกไปเลือกยังไงก็ชนะอยู่แล้ว 2.ออกไปตามเสียงคนชนะ"

 


ด้าน "ดร.นพดล กรรณิกา" ผอ.เอแบคโพลล์ ชี้ว่า คณะวิจัยปฏิเสธอย่างเด็ดขาดว่าไม่มีการชี้นำให้ประชาชนไปเลือกพรรคนั้นพรรค นี้ แต่สิ่งที่เราเสนอคือเสียงสะท้อน หรือความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ได้มาอย่างไรก็นำเสนออย่างตรงไปตรงมา

สิ่งที่ออกมาจากประชาชนไม่ถือ ว่าเป็นการชี้นำ แต่ปกติการพูดอะไรบางอย่างก็ต้องถือว่ามีความชี้นำบ้างอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องใช้หลักต่างๆ ในการจัดการเพื่อลดการชี้นำนั้นลงไป การลดการชี้นำใช้ทั้งระเบียบวิธีทางการวิจัย ทั้งสถิติอย่างเมื่อเราทำบททดสอบขึ้นมาเราก็ต้องมีการทดสอบก่อนที่จะนำไปสอบ ถามประชาชนจริงๆ รวมถึงการเลือกประชาชนก็จะเลือกกระจาย อย่างตามสถานีรถไฟฟ้า หรือป้ายรถเมล์ เพราะเป็นสถานที่ที่มีการเคลื่อนไหวของคนอยู่ตลอดเวลา และขอยืนยันว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปชี้นำประชาชน

ผอ.เอแบคโพลล์ บอกอีกว่า เราเคารพ กกต.กทม. หากจะตัดสินใจอย่างไรทางเอแบคโพลล์ก็พร้อมที่จะทำตาม และยินดีหาก กกต.กทม.จะให้ยุติการเผยแพร่ผลโพลก็จะปฏิบัติตาม แต่ก็เป็นห่วงว่าหากไม่มีการเสนอโพล พื้นที่ในสื่อมวลชนก็จะมีแต่พื้นที่ของชนชั้นนำ เป็นพื้นที่ของคนเฉพาะกลุ่ม ต่างจากโพลที่เป็นการเข้าถึงกลุ่มคนทุกกลุ่มโดยไม่แบ่งแยก ให้ความสำคัญกับคนทุกคน และไม่ใช่เพียงโพลเท่านั้น แต่การเคลื่อนไหวของผู้สมัครทุกคนก็ถือเป็นการชี้นำได้เช่นกัน

"อยาก เสนอให้ กกต.ตั้งคณะทำงานที่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำโพลทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มีความเป็นสากล เพื่อจะได้ทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ เพื่อที่สื่อมวลชนรวมทั้งประชาชนจะได้ทราบว่าโพลคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และมีวิธีการทำอย่างไร รวมทั้งอยากให้ตรวจสอบด้วยว่าตัวบุคคลที่ทำโพลมีความสัมพันธ์อย่างไร มีการเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่" ผอ.เอแบคโพลล์กล่าวทิ้งท้าย

 



ฝั่ง "ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย" ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า คำถามคือ มีผู้สมัครที่ไปร้องให้ยุติการแจ้งผลโพล 2-3 ราย กกต.ต้องพิจารณาว่าผู้สมัครรายอื่นคิดเห็นอย่างไร ชื่นชอบการแจ้งผลโพลไหม หรือประชาชนว่าอย่างไรบ้างต่อการทำโพล เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การทำโพลในตอนนี้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เพียงแต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร้องเรียนเท่านั้น

"ผมคิดว่าประชาชน ส่วนมากไม่ได้เลือกผู้สมัครตามผลโพลที่ออกมา เพราะหากวัดจากตัวผมเองก็เลือกผู้สมัครโดยไม่ได้ดูผลโพลแต่อย่างใด แต่จะเลือกผู้สมัครตามที่ตนเองคิดหรือชื่นชอบ ส่วนการแจ้งผลโพล ลักษณะก็คล้ายกับการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูล โพลอาจจะมีผลต่อประชาชนบ้างในส่วนที่ยังไม่ได้มีการตัดสินใจ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะประชาชนอาจให้ความสนใจว่าผู้สมัครคนนี้เหตุใดถึงได้รับความนิยม"

"หาก คิดอีกแง่หนึ่ง การแจ้งผลโพล อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้สมัครด้วยซ้ำเพราะผู้สมัครแต่ละคนจะได้ทราบว่าประชาชน รู้สึกอย่างไร เป็นที่ชื่นชอบหรือไม่ ต้องปรับปรุงกลยุทธ์การหาเสียง หรือปรับเปลี่ยนนโยบายอะไรบ้างไหมเพื่อเพิ่มคะแนนนิยม" ดร.ธนวรรธน์กล่าวทิ้งท้าย

เหล่านี้คือเสียงสะท้อนจากหัวอกคนทำโพล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook