กกต.ชี้ศิริโชค โสภา ส.ส.ปชป.ไม่เข้าข่ายหมิ่น
หมายเหตุ : พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ปธ.กกต.กทม.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาและการร้องเรียนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 มีนาคมนี้
นับตั้งแต่วันรับสมัครเลือกตั้งเป็นต้นมา ทาง กกต.กทม.ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วกี่เรื่อง
ขณะนี้ กกต.กทม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วหลายเรื่อง อาทิ การติดป้ายโฆษณาหาเสียงกีดขวางการสัญจรไปมาของประชาชน ซึ่งทางสำนักงานเขตต่างๆ ก็ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว กับเรื่องนโยบายในการหาเสียงที่เกินความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นเพียงการร้องเรียนผ่านโทรศัพท์หรือผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น ยังไม่มีการร้องเรียนเข้ามาอย่างเป็นทางการ ส่วนที่มีคำร้องเข้ามาอย่างเป็นทางการก็คือ ประเด็นเรื่องการทำโพล ซึ่งผู้ร้องก็เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 2 คน
มีข่าวว่า กกต.กทม.จะเชิญสำนักโพลที่ถูกร้องเข้าให้ข้อมูลด้วย
ในส่วนของคำร้องของทั้ง 2 คน ทาง กกต.กทม.ได้ตรวจสอบในเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าองค์ประกอบของคำร้องยังไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินการได้ โดยได้ประสานกลับไปเพื่อให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม และได้รับการยืนยันว่าจะมายื่นเอกสารเพิ่มเติมในวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ และ กกต.กทม.จะนำเข้าที่ประชุมในวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ หากตรวจสอบเอกสารคำร้องทั้งหมดแล้วเข้าเกณฑ์ เบื้องต้นยังไม่สามารถตั้งข้อกล่าวหาได้ทันที แต่จะเป็นการเชิญสำนักโพลที่ถูกร้องเข้ามาเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนว่า การทำโพลเป็นไปตามหลักวิชาการและเป็นไปตามหลักมาตรฐานของระเบียบวิธีวิจัย ของการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่
ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หนนี้ การทำโพลจะมีปัญหามากเป็นพิเศษ
ผมคิดว่าปัญหาคงไม่มี แต่เป็นความรู้สึกของผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งมากกว่า ที่รู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพราะทุกคนที่ลงสมัครรับเลือกตั้งต่างก็เข้าใจว่าเขาก็มีสิทธิและมีศักยภาพ เพียงพอที่ประชาชนจะเลือกเขา ซึ่งในความเป็นจริง คนที่จะเสนอตัวมารับใช้ประชาชนในการทำหน้าที่บริหารในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. จะต้องเป็นคนที่มีมวลชนให้การสนับสนุน เป็นคนที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้จะต้องเป็นคนที่มีศักยภาพความรู้ความสามารถ มีจิตสาธารณะ และจะต้องมีความพร้อมในเรื่องฐานะความเป็นอยู่ที่ดี
ดังนั้นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้สังคมได้ทราบว่า ในสายตาของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเขาให้ความนิยมหรือไว้วางใจผู้สมัคร รายใด และมีแนวคิดอย่างไรกับตัวผู้สมัครอย่างไร ซึ่งถือได้ว่าเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำนักโพลต่างๆ ได้ทำประโยชน์ให้กับสาธารณะ
โพลมีส่วนในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากขึ้นหรือไม่
ต้องยอมรับว่าผลโพลเป็นปัจจัยหนึ่งในการกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งจริงๆ
ส่วนตัวผมไม่เชื่อผลโพลเท่าไหร่เพราะจำนวนประชากรตัวอย่างที่สำนักโพลต่างๆ ลงไปสำรวจ กับจำนวนประชากรทั้งหมด ยังห่างกันมาก คิดง่ายๆ สมมุติว่า สำรวจความคิดเห็นประชาชน 50 เขต ใช้จำนวนประชากร 1,500 ตัวอย่าง ตกแล้วจะต้องถามประชาชนเพียงเขตละ 30 คนเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่เขตหนึ่งมีจำนวนประชากรเป็นหลักแสนคน แล้วใน 30 คนจะต้องมีการจัดชั้นตัวอย่างของประชากรตัวอย่างที่จะทำการสอบถามด้วย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผลโพลหลายครั้งออกมาไม่ค่อยตรงกัน
ประเด็นเรื่องการใส่ร้ายป้ายสีที่มีผลต่อคะแนนความนิยมของผู้สมัคร ทาง กกต.กทม.จัดการอย่างไร
ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงแล้วผู้พูดนำมาพูดอันมีผลเสียต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ เข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสี แต่ถ้าเรื่องที่พูดเป็นเรื่องจริงซึ่งผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นการใส่ร้าย
อย่างกรณีที่มีผู้ออกมาระบุว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เข้าไปมีส่วนในการทุจริตสร้างโรงพักทดแทน ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่มีการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมว่าจริงหรือไม่ ก็อาจเข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสีได้ เพราะทำให้คนทั่วไปมองว่ามีส่วนและทำให้คะแนนนิยมเสีย
แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่พูดกันในสภาซึ่งไม่ได้พูดออกสาธารณะคงไม่เข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสีเพราะเป็นการชี้แจงในสภาซึ่งกฎหมายได้ให้การคุ้มครองไว้เพราะถือว่าเป็นการทำหน้าที่ในสภา แต่ถ้า พล.ต.อ.พงศพัศ เขารู้สึกว่าเขาเสียหายก็สามารถฟ้องหมิ่นประมาทในทางอาญาได้ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
กรณีที่ นายศิริโชค โสภา ส.ส.ปชป.โพสต์รูปในเฟซบุ๊กเข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสีหรือไม่
คงไม่เข้าข่ายเพราะภาพที่โพสต์ไม่มีการแสดงความเชื่อมโยงระหว่างตัวคนกับภาพหลังที่นำมาตัดต่อว่าจะเป็นการใส่ร้ายป้ายสีอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการอธิบายและการตีความของแต่ละคนไปเอง ซึ่งภาพที่จะเข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสีจะต้องมีลักษณะเชื่อมโยงระหว่างตัวคนกับ ภาพที่นำมาตัดต่อ อีกทั้งจะต้องมีการอธิบายความหมายลงไปในภาพอย่างชัดเจน ที่สำคัญใครดูก็เข้าใจแบบเดียวกันหมด ถึงจะสามารถระบุแบบนั้นได้ ซึ่งตามหลักของกฎหมาย การลงโทษผู้กระทำความผิดถึงขนาดจำคุกได้ ผู้นั้นจะต้องมีเจตนากระทำผิดอย่างชัดเจน