ประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

ประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

ประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดีเบตวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร – พงศพัศ พงษ์เจริญ – เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส – สุหฤท สยามวาลา – วรัญชัย โชคชนะ – โฆษิต สุวินิจจิต

<--break-><--break-->ศูนย์ ติดตามประชาธิปไตยไทยฯ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาสาธารณะ ประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2556 ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน นิสิตนักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปอย่างคับคั่ง

โดยมีผู้สมัคร 5 คนบนเวทีได้แก่

1. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข 16
2.พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครหมายเลข 9
3.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส ผู้สมัครหมายเลข 11
4.นายสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครหมายเลข 17
5.นายวรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครหมายเลข 2
6.นายโฆษิต สุวินิจจิต ผู้สมัครหมายเลข 10

 

แนะนำตัวผู้สมัคร

วรัญชัย โชคชนะ

พื้นเพเป็นคนอุบลราชธานี เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลเผด็จการทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เมื่อปี 2521 นอกจากนี้ยังเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ มานานที่สุด สมัครทุกครั้งตั้งแต่ปี 2531 สมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

“ถ้าที่ผ่านมาแก้ปัญหาได้ ผมคงไม่ต้องสมัคร”

มีวิสัยทัศน์ 1.แก้ปัญหาจราจร 2. คูคลองสะอาด 3. หาบเร่แผงลอยเป็นระเบียบ ส่วนสนามหลวงจะทำให้เหมือนเดิม เปิดเป็นเวทีประชาธิปไตยของคนเล็กคนน้อย 4.บริหารเมือง ประสานงานได้ทุกหน่วย 5.ปราบทุจริต

 

พงศพัศ พงษ์เจริญ

ที่ผ่านมาปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขลงพื้นที่เยอะเห็นปัญหามาก ซึมซับเต็มร้อย วิสัยทัศน์หลักอยากเห็นทุกคนมีความสุข มีรอยยิ้มเพิ่มมากขึ้น

แต่เนื่องจากงบประมาณ และอำนาจของกทม.จำกัด แล้วยังต้องดูแลคนที่มีภูมิลำเนาในกทม. 5.67 ล้าน ซึ่งทรัพยากรที่มีนั้น “ทำอะไรได้น้อย” การหาเสียงจึงวางยุทธศาสตร์บริหาร กทม.ร่วมรัฐบาลอย่างไร้รอยต่อ ส่วนไหนที่เป็นอำนาจหน้าที่จะทำทันที แต่นอกเหนือจากนั้นส่วนที่ยังเป็นปัญหาคนกทม.ก็ต้องคิดนอกกรอบ แสวงหาความร่วมมือกับรัฐบาล รวมถึงภาคเอกชน

สิ่งที่วางแผนจะทำมี 3 ส่วน ได้แก่ การจัดการปัญหากลุ่มของการจราจร อาชญากรรม ยาเสพติด อัคคีภัย, ปัญหาความสะอาด สิ่งแวดล้อม มลพิษ, การดูแลผู้สูงอายุ พิการ เด็ก รวมทั้งการพยายามเพิ่มรายได้ เปิดตลาดการท่องเที่ยว

 

โฆษิต สุวินิจจิต

พื้นเพเป็นคนชลบุรี เป็นเด็กหาบเร่แผงลอย แม่หาบผลไม้ขาย ต่อมาดิ้นรนจนทำศูนย์การค้าที่ชลบุรี เข้า กทม.ทำระบบความปลอดภัย SOS ต่อมาทำงานสื่อ เป็นประธานบริษัทมีเดีย ออฟ มีเดีย และทำธุรกิจบันเทิงครบวงจร ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 เช่นเดียวกับนักธุรกิจส่วนใหญ่แต่ก็ฟื้นฟูกิจการขึ้นมาได้ จากนั้นทำบริษัทที่ปรึกษา ต่อมาบ้านเมืองมีปัญหาสื่อเลือกข้าง จึงก่อตั้งทำ spring news นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ปรึกษารัฐบาลแทบทุกรัฐบาล แทบทุกพรรคการเมือง รวมถึงหน่วยราชการต่างๆ ด้วย

“ปัญหาแก้ไม่ได้ ถ้าติดกับความขัดแย้งทางการเมือง ผมเชื่อว่าท้องถิ่นต้องอิสระจากพรรคการเมือง ผู้ว่าฯ ควรมาจากผู้บริหารโดยตรง ไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นเรื่องนักบริหารเมือง เพราะผู้ว่าฯ ต้องประสานทุกฝ่าย จึงมีเหตุจำเป็นที่จะไม่ต้องสังกัดพรรค”

วิสัยทัศน์ ต้องการพัฒนา กทม.เป็นเมืองหลวงของประเทศและของคนไทยทั้งประเทศ เป็นศูนย์กลางอาเซียน ให้ประชาชนมีส่วนรวมโดยมีนโยบาย กทม. 24 ชม. ให้ 50 เขตมี 50 ยุทธศาสตร์ ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาคมในแต่ละเขตมามีส่วนร่วมในการพัฒนายุทธศาสตร์ มีนโยบายทำกทม.เป็น creative city และเป็นมหานครแห่งวัฒนธรรม ศูนย์กลางวัฒนธรรมแห่งอาเซียน และทำสิ่งที่ถนัดคือ ใช้สื่อและความบันเทิงในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม

 

เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส

พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่นี่ ทำงานที่นี่ จากนั้นไปรับราชการตำรวจที่ในหลายจังหวัด และดำรงตำแหน่งสูงสุดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีประวัติการทำงานดีเด่นมากมาย รวมถึงการปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จนราบคาบ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ผ่านการดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา มีจุดเด่นเรื่องการไม่โกงกิน ตรงไปตรงมา ที่ผ่านมาปราบเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลจำนวนมาก และได้รับรางวัลด้านคุณธรรมอย่างมากมาย

วิสัยทัศน์ คือ คน กทม.ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นศูนย์กลางอาเซียนในด้านเศรษฐกิจ ต้องเป็นเมืองที่ปลอดอาญากรรม ยาเสพติด ผู้มีอิทธิพล เป็นเมืองที่น่าอาศัย น่าท่องเที่ยว การจราจรไม่ติดขัดจึงต้องมีโครงการรถเมล์แอร์ฟรี เป็นเมืองปลอดขยะ สีเขียว ประชาชนมีการศึกษา มีโรงพยาบาลที่ทันสมัย เพียงพอต่อการบริการประชาชน เด็กและผู้สูงอายุได้รับการดูแล

“ผมมั่นใจ ไม่มีใครจัดการเรื่องความปลอดภัยได้เท่าผม เพราะผมทำมาทั้งชีวิต”

 

สุขุมพันธุ์ บริพัตร

รายละเอียดของนโยบายต่างๆ นั้นมีอยู่ในเอกสาร ที่สำคัญคือแนวคิดเบื้องหลังมาตรการและนโยบายเหล่านี้ การทำงานด้านนโยบาย กทม.จะทำสองสามเรื่องไม่ได้ ต้องมีแนวนโยบายที่ครบถ้วน มีอำนาจหน้าที่เต็มแค่ไหนไม่สำคัญแต่ต้องพยายามทำให้ครบถ้วน เป็นที่มาคำขวัญว่า “ทั้งชีวิตเราดูแล” นั่นคือ เราตั้งใจดูแลคนตั้งแต่การให้คำปรึกษาคู่สามีภรรยาในการวางแผนมีบุตร แนะนำการดูแลทารกแรกเกิด สร้างศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ทำให้ระบบการเรียนการสอนมีคุณภาพ สร้างแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ห้องสมุด ศูนย์เยาวชนมิติใหม่ต่างๆ เมื่อถึงวัยทำงานก็อำนวยความสะดวกในการเดินทาง หากเป็นหนี้ต้องแก้ไขให้ มีศูนย์ฝึกอาชีพ ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาให้ความรู้วิชาชีพแก่ประชาชนไปแล้ว 1 แสนคน เมื่อเกษียณแล้วเรามีระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร มีนโยบายสตรี ดูแลผู้หญิงอย่างครบวงจรรวมทั้งดูแลผู้พิการด้วย

“ทั้งชีวิตเราดูแล ไม่ได้เป็นแต่เพียงคำขวัญ แต่ผู้ว่าฯ ต้องตั้งเป้าที่จะทำให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ควรมาเป็นผู้ว่าฯ”

 

สุหฤท สยามวาลา

หลายคนว่าเป็นผู้ว่าเด็กแนว แต่นั่นเป็นเพียง 10% ของชีวิต ที่ผ่านมาทำงานบริหารมาทั้งชีวิต หน้าที่ผู้ว่าฯ ต้องกำกับดูแลงานที่ข้าราชการต้องทำอยู่แล้ว ที่ไม่ใช่เป็นนโยบาย เช่นพวกถังขยะ ไฟส่องสว่าง แต่มันยังส่วนนโยบายซึ่งเราเน้นการเปลี่ยนความรู้สึกของทุกคนในกทม. ไม่ใช่ด้วยเงินอย่างเดียว แต่ต้องเป็นภาคสังคมที่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนด้วยกัน หลายคนถามว่าเป็นไปได้เหรอ ทำได้เหรอ ถ้าเราไม่เปลี่ยนที่ตัวเอง ใช้ไม้เรียวอย่างเดียวทำไม่ได้ ต้องเริ่มจากทุกคนคนร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลง

เราจะขอความร่วมมือเรื่องอะไรบ้าง ดูจากนโยบาย 1 โหล คือ

ทุกชีวิตปลอดภัยบนทางเท้า, แก้ปัญหาจราจรจาก 0 เริ่มต้นที่ตัวเอง, เอาขยะมาแลกสวนสาธารณะ นำขยะไปรีไซเคิลเอามาสร้างสวน, 50 เขต 50 เสน่ห์ เอานักการตลาดเข้าไปพัฒนา เขตเศรษฐกิจเฉพาะแต่ละเขต, ดูแล ร.ร.ด้วยหัวใจ และเพิ่มงบประมาณ, โฆษณาสีเขียว อยากเปลี่ยนให้บ้านเมืองสวยขึ้น ไม่ใช่มีป้ายโฆษณาเต็มไปหมด, จักรยานไม่ใช่ลูกเมียน้อย, เครือข่ายการเดินทางสาธารณะ ทำให้คนรู้สึกว่าขับรถเองดีน้อยกว่าใช้บริการรถสาธารณะ, ผู้หญิงอยู่อย่างมีความสุข ปลอดภัย พัฒนาแหล่งชอปปิ้ง, ชีวิตที่เป็นสองด้าน ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก, เมืองแห่งแอพลิเคชั่น

 

คำถามจากทางบ้าน

ผู้ดำเนินรายการ จับชื่อผู้สมัคร 2 คนสำหรับตอบแต่ละคำถาม

 

คำถาม: มีแนวทางจัดการเมืองอย่างไร ระหว่างเขตเศรษฐกิจ เมืองเก่า สถานบันเทิง ฯลฯ

สุขุมพันธุ์ เมืองเก่ากับเมืองใหม่ขีดเส้นชัดเจนไปแล้ว เกาะรัตนโกสินทร์รัฐบาลโดยคณะกรรมการชุดหนึ่งรับผิดชอบโดยตรง อย่างไรก็ตาม 3 ปีที่ผ่านมาได้สั่งยกร่างผังเมืองรวมฉบับที่ 3 (เรามีแค่ 3 ฉบับ) การที่จะแบ่งแยกพื้นที่พาณิชย์ พื้นที่พักอาศัย พื้นที่สถานบันเทิง ทำได้ยาก เพราะความเป็นจริงได้ผสมกันหมดแล้ว เช่น พื้นที่สุขุมวิท ในการร่างผังเมืองรวมได้ตั้งโจทย์ไว้คือ 1.ดูแลพื้นที่สีเขียวเดิมให้ดี 2.ทำตามมติ ครม.พื้นที่ใดเป็นแก้มลิงอยู่แล้ว เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไม่ได้ 3. สะท้อนถึงความเป็นจริง พยายามสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งปลูกสร้างกับธรรมชาติ ระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา ขณะนี้ร่างผังเมืองรวม กทม. ส่งให้คณะกรรมการผังเมืองรวมใหญ่เรียบร้อยแล้ว

สุหฤท เรื่องผังเมืองมีร่างผังเมืองอยู่แล้ว แต่แนวที่ต้องพัฒนาในระยะยาวคือ เรามีไข่ดาวที่มีไข่แดงใบเดียว จึงควรมีไข่ดาวทั้งหมด 50 ใบกระจายในทุกเขต มันจะได้ประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ความเจริญไม่ได้หมายความว่าต้องพังของเก่า ใส่เทคโนโลยีหรือทำตึกสูง มันสามารถปนอยู่กับสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของกทม.ได้ สถานที่เก่าต้องรักษาไว้ แต่บางแห่งเราก็พัฒนาเป็น shopping street ได้ ในแต่ละเขตจะมีจุดเด่นของเขาเอง มีถนนเศรษฐกิจหลักของแต่ละเขต

 

คำถาม : ในทางกฎหมาย อำนาจของ กทม. มีจำกัด เช่น รถเมล์ เป็นของคมนาคม ถนนบางสายเป็นของกรมทางหลวง ฯลฯ ท่านคิดว่าจำเป็นหรือไม่ ที่จะดึงอำนาจการบริหารจัดการมาจากรัฐบาลกลาง มีแนวทางอย่างไร ด้วยวิธีการใด

พงศพัศ อาจต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้โครงสร้างอำนาจ ผู้ว่าฯ ทำได้ในแทบทุกมิติ เราเห็นข้ออ่อนตรงนี้ ซึ่งเรื่องนี้จะอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง การแก้กฎหมายต้องใช้เวลา แต่เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาประชาชนทันที เราจึงมุ่งเน้นเรื่องการทำงานกับรัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ อย่างคล่องตัว

สำหรับประเด็นรถโดยสารสาธารณะนั้น เห็นว่า 30% ของรถเมล์ที่มีควรจะนำมาวิ่งในพื้นที่ชายขอบชานเมือง เป็นการออกรถจากพื้นผิวจราจรออกไปรอบนอก และจะมีการจัดโซนนิ่ง 3 ส่วน ใจกลางเมือง เมืองระดับกลาง และชายขอบ ซึ่งจะต้องออกแบบขนาดรถและเส้นทางรถให้เหมาะสม

โฆษิต เนื่องจากทำงานบริหารซึ่งต้องเป็นนักประสานสิบ ทิศ คิดว่าเรื่องเหล่านี้ประสานได้ เราสามารถแก้จราจรได้ ด้วยนโยบาย กรุงเทพฯ 24 ชม. ทุกวันนี้คนต้องลางานไปติดต่อ กทม. คนต้องเดินทางไปรวมกันตอนกลางวัน ทำไมเราไม่ขยายเวลาทำการ ธนาคารก็ขยายเวลาทำการ ซึ่งช่วยคลี่คลายปัญหาจราจรได้ รถไฟฟ้าให้บริการ 24 ชม. แต่ละเขตมีความสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ ความเจริญกระจายทุกเขต ไม่ต้องทำงานข้ามเขตก็ได้

 

คำถาม: มีแนวทางในการสร้างความสมดุลในการใช้พื้นผิวทางเท้า ระหว่างหาบเร่แผงลอยกับคนเดินทางอย่างไร

วรัญชัย อยากตอบคำถามแรกๆ ก่อน แม้ไม่ได้ถามผม อำนาจบางส่วนแม้จะไม่อยู่ผู้ว่า แต่เป็นผู้ว่าอย่างอมืองอเท้า ต้องเจรจาได้ ประสานงานได้ ส่วนเรื่องทางเท้า ทั้งคนเดินเท้าและหาบเล่แผงลอยต้องไปด้วยกันให้ได้ มีการกำหนดระยะเวลาว่าขายได้เมื่อใด มีบัตรประจำตัว มีซุ้มชัดเจน และทำให้เป็นระเบียบสวยงาม ให้ ผอ.เขตจัดประชุมแล้วหาทางออกว่าจะขายเวลาใด เลิกเวลาใด

เสรีพิสุทธิ์ หลักสำคัญให้ประชาชนกินอิ่มนอนหลับ ต้องมีอาชีพ มีรายได้ แต่อย่างไรก็ตาม อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทางเท้าก็ต้องให้เขาสัญจรไปมาได้ ไม่ใช่ยึดไปทั้งหมด เราจะหาพื้นที่ตลาดให้ขาย มีตลาดตรงไหนคุณต้องเข้าจะอ้างว่าไม่เข้าไม่ได้ ที่เหลือปล่อยขายไปก่อน ปัญหาก็จะเบาบางลง อีกอย่างคือ การทำตลาดลอยฟ้า เหมือนสะพานลอย แต่กว้าง 20 เมตร มีบันไดเลื่อน ติดแอร์ ให้พี่น้องประชาชนขายข้างบน ส่วนด้านล่างก็ปลูกต้นไม้ร่มรืนให้คนเดิน

 

คำถามจากในห้องประชุม

ผู้ฟัง: การมีส่วนร่วมคน กทม. มีอย่างจำกัด ในการออกบัญญัติ กทม.ทำได้ยาก ต้องเข้าชื่อไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น ต้องใช้เสียงถอดถอด 3 ใน 4 ของผู้มาใช้สิทธิ ประมาณ 2 ล้าน คำถามคือ ท่านมีท่าทีเชิงนโยบายที่จะขยายการมีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างไร

สุขุมพันธุ์ การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้จำกัดอยู่ ตรงนั้น ทำได้หลายระดับ ระดับชุมชน หมู่บ้าน เขต ฯ ชุมชนพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เรามีเพดานให้ 1 ล้านบาท 1 ชุมชน ประชาขนก็เข้ามามีส่วนร่วมในการทำตรงนี้ เรายังสร้างแอพ iBangkok สร้างปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างผู้ว่าฯ กับปชช. ส่วนการแก้ในด้านกม.นั้นทำได้ นำเสนอร่างไปแล้ว เพื่อให้การมีส่วนร่วมในเรื่องสำคัญเหล่านี้เข้มข้นมากขึ้น

เรื่องไม่มีการตรวจสอบเพียงพอ ไม่จริง กทม.ถูกตรวจสอบตลอดเวลา กมธ.ของสภา ถ้าไปด้วยตนเองถูกเรียกทุกสัปดาห์ 5-15 คณะ ไม่รวมองค์กรอิสระ สภากทม. และดีเอสไอที่รักของผม ผมไม่เข้าใจคำถามจริงๆ

พงศพัศ กระบวนการมีส่วนร่วมทำได้หลากหลายระดับ การออกสิทธิเลือกตั้งก็ร่วมอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นพ่อบ้าน เราต้องใส่ใจ นอกเหนือจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ความต้องการมาบริหารจัดการ ยังน่ามีปชช.หลายส่วนที่ไม่มีโอกาสนำเสนอ ควรเพิ่มช่องทาง อาจมีคนไม่พอใจในการบริหาร การจัดการ ต้องเปิดโอกาสให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น หากมีข้อบัญญัติที่เป็นอุปสรรค เราก็ต้องช่วย การตรวจสอบเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในระบอบปชต. ควรเปิดโอกาสให้มีส่วร่วมในการถอดถอดผู้บริหารระดับต่างๆ

 

คำถาม: มีนโยบายเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนอย่างไร

โฆษิต ขนส่งมวลชนที่ไม่เชื่อมโยงกัน ส่วนหนึ่งเป็นของรัฐบาล ส่วนหนึ่งเป็นของ กทม. ถ้าเป็นนักบริหารก็ต้องทำแผนเสนอ ปรึกษาหารือกับรัฐบาล เพราะเป็นเป้าหมายเดียวกัน หน้าที่เดียวกัน แนวคิดที่จะเชื่อมโยง จริงๆ คนไม่อยากออกรถใหม่ แต่เดินทางไม่สะดวก จะทำยังไงลดปริมาณรถบนถนน แก้ระยะสั้น เชื่อมมโยงชุมชนและหมู่บ้านมาสู่ขนส่งมวลชน ทำ Shuttle Bus มาส่งที่รถไฟฟ้า รถใต้ดิน ตลอด 24 ชม. ขณะเดียวกันมีที่จอดรถเพิ่มให้สะดวกในการต่อรถใต้ดิน ทำที่จอดหลายชั้น พื้นที่เกาะหลาง เราสามารถ สร้าง feeder สร้างโมโนเรลได้ สร้างทุกอย่างเป็นโครงข่าย คนสะดวก คนก็จะลดการใช้รถ การบูรณาการทั้งหมดสามารถทำทันทีได้

สุหฤท เราต้องเชื่อมการเดินทางให้เหมือนใยแมงมุม ไม่มีใครจิงจังกับรถสาธารณะ ต้องเริ่มต้นจากหน้าบ้าน จะเอาคุณออกมาจากบ้านอย่างไร ไปถึงรถสาธารณะได้อย่างไร สายเดินรถวันนี้ล้าหลัง ทุกอย่างต้องพุ่งเข้าศูนย์กลางรถไฟฟ้า แล้วกระจายออก

 

คำถาม: จะมีนโยบายสร้างเพิงพักให้บริการน้ำดื่ม ที่เว้าโค้งให้มอเตอร์ไซด์ แท็กซี่หรือไม่ / ควรให้จังหวัดอื่นได้เลือกตั้งผู้ว่าของตัวเองด้วย / ขนส่งมวลชน ต้องใช้ระบบขนคนมากกว่าขนรถ ต้องประสานงานให้ประสิทธิภาพ, สร้างเพิงพักวินมอไซด์ เรื่องเล็กมาก

เสรีพิสุทธิ์ คนต่างจังหวัดทั้งนั้น เป็นเพราะเราไม่ได้ทำตามกฎหมายทะเบียนราษฎร์ ไปอยู่ที่ไหนต้องย้ายทะเบียนบ้านด้วย แต่งบประมาณต้องใช้ตามจำนวนคนในทะเบียนบ้าน แต่คนต่างจังหวัดมีอีกเท่าตัว นักท่องเที่ยวอีก กทม.เลยพัฒนาไม่ได้ตามรูปแบบที่ถูกต้อง เพราะคนเราไม่เคารพกฎหมาย คำถามต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น เพราะพวกนี้ไม่มีทะเบียนบ้านอยู่เลย เป็นเรื่องที่เขตเขาจัดการได้ ไม่ต้องมาให้หนักสมองผู้ว่าฯ

 

คำถาม: กทม.ใช้งบมากแก้ปัญหาปากท้องให้กทม. ซึ่งส่วนหนึ่งเอามาจากงบรวมทั้งประเทศ แล้วจังหวัดอื่นที่ประชาชนยากจนกว่าเขาจะคิดอย่างไร มีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

เสรีพิสุทธิ์ คำถามนี้อาจเกี่ยวเนื่องกับผม เพราะประกาศว่าจะมีโครงการรถเมล์แอร์ฟรี มีโรงทาน ความจริงคนใน กทม.มี 4 ล้าน คนต่างจังหวัดอีก 4 ล้าน นักท่องเที่ยวต่างประเทศอีก 2 ล้าน รวมเป็น 10 ล้าน งบ กทม.ที่ได้มาจึงไม่ได้ใช้เพื่อคนกรุงเทพฯ แต่ไปใช้เพื่อคนต่างจังหวัดด้วย คำถามมันกลับตาลปัตร ตรงนี้งบกรุงเทพฯ เก็บเงินได้ 6 หมื่นกว่าล้าน ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะมากกว่านี้แน่นอน เพราะเคยปราบคอรัปชั่นที่สนามม้า จากที่มีรายได้วันละ 90 ล้าน เพิ่มเป็น 160 ล้าน เพราะผมไม่กลัวอิทธิพล ปัญหาอะไรยากๆ เสรีฯ จัดการได้หมด รถเมล์แอร์ฟรีที่บอกไปก็ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นการแก้ปัญหาจราจร

สุขุมพันธุ์ เรื่องเรียนฟรีนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ รองรับไว้ ส่วนโครงการอาหารเช้าสำหรับนักเรียนฟรี งบประมาณไม่ได้มากมายแต่มีคุณค่ามหาศาล เพราะเด็กๆ มักไม่ได้ทานอาหารเช้าที่บ้าน เรื่องความจน ไม่จน ขอให้เข้าใจตรงกันว่า คนจนเมืองมีเยอะมาก และชีวิตของเขารันทดมาก ในชนบทแก่แล้วอาจมีลูกหลานดูแลแต่ในเมืองอาจไม่มี การเดินทางก็ลำบาก ค่าครองชีพก็สูงกว่า หน้าที่ของพ่อเมืองก็ต้องสร้างระบบการดูแลคนจนเมืองด้วย ที่ผ่านมา กทม.จ่ายภาษีเป็น 70% ของทั้งประเทศ แต่ที่ได้งบประมาณมาไม่สมดุล เพราะประชากรจริงมี 10 ล้าน แต่ที่มีทะเบียนบ้าน 5 ล้านกว่า กทม.ต้องแบกรับส่วนต่างตรงนี้ นอกจากนี้แม้งบประมาณของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านล้าน เป็น 2 ล้านล้าน แต่งบกทม.กลับได้น้อยลงกว่าเดิมด้วย

 

คำถามจากนิสิตภาควิชาปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาฯ : ผู้สมัครแต่ละท่านมีนโยบายอย่างไรในการสนับสนุนการอ่านของคนกรุงเทพฯ ทำอย่างไรให้ประชาชนได้อ่านหนังสือที่มีคุณภาพ

สุหฤท ไม่ใช่เรื่องการนั่งสร้างห้องสมุดไปเรื่อยๆ แล้วปล่อยให้ว่างเปล่า การกระตุ้นการอ่านวันนี้สามารถใช้เทคโนโลยีได้ด้วย ห้องสมุดนั้นดีสำหรับผู้รักการอ่านแล้ว สำหรับผู้ยังไม่รักการอ่าน หลักสูตรในโรงเรียนเริ่มได้เลย การทำหนังสือสาธารณะ หยิบไปอ่านบรถไฟฟ้า สถานีหน้าวางคืนก็อำนวยให้คนอ่านมากขึ้น การสร้างนิสัยแต่เด็กก็สำคัญ พ่อต้องอ่านให้ลูกฟังตั้งแต่เล็ก สำหรับเรื่องคุณภาพหนังสือ เราต้องสนับสนุนสำนักพิมพ์ มีหนังสือดีมากมายที่น่าแปล ต้องมีงบสนับสนุน ห้องสมุดต้องสนุกมากขึ้น เด็กๆ เข้าไปแล้วอาจไปเล่นเกมก่อน

สุขุมพันธุ์ นโยบายส่งเสริมการอ่านเป็นของผมเอง คนไทยอ่าน 4-5 เล่มต่อปี คนเวียดนามอ่าน 60-70 เล่ม เราจึงต้องเร่งส่งเสริมโดยเฉพาะเยาวชน โครงการที่นำเสนอยูเนสโกจนเราได้เป็นเมืองหนังสือโลก ส่วนหนึ่งก็คือการทำหอสมุดเมือง และพิพิธภัณฑ์การ์ตูน ตอนนี้มีห้องสมุดการ์ตูนแห่งแรกแล้วที่เขตห้วยขวาง อีกแห่งกำลังเกิดคือย่านฝั่งธน นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มพื้นที่อ่านในห้องสมุด ห้างสรรพสินค้า แท็กซี่ รถประจำทาง

เสรีพิศุทธิ์ การพัฒนาประเทศชาติ ต้องเตรียมประชาชนให้มีความพร้อมทุกด้าน การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะความรู้ การอ่านหนังสือ คนต่างประเทศเขาจะถือหนังสืออ่านกันตลอด แต่บ้านเราไม่ค่อยจะมี หากได้เป็นผู้ว่าจะยกศาลาว่าการปัจจุบันเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรม จัดตั้งห้องสมุดทุกโรงเรียนในเขตกทม. มีห้องสมุดที่ประชาชนจะเข้าไปหาความรู้ได้ และจะคัดเลือกหนังสือที่มีคุณภาพ และใน 50 เขตก็จะจัดทำห้องสมุดประชาชน

โฆษิต ต้องสร้างฮีโร่ของการอ่าน เช่น แชมป์อ่านเอาเรื่อง ส่วนเรื่องห้องสมุด จากที่ไปเห็นที่แต้จิ๋ว น่าเข้ามาก ที่นั่งเป็นเธียเตอร์นั่งลงไป แล้วเป็นกระจก ด้านนอกเป็นทิวไผ่สวยงาม ห้องสมุดเท่มาก ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สันทนาการด้วย มีปลั๊กให้เสียบไอโฟน wi-fi อำนวยความสะดวกทุกอย่าง นอกจากนี้ยังต้องให้รางวัลหนังสือที่คนอ่าน เป็นการให้กำลังใจ จัด Bangkok book award ส่งเสริมภาพยนตร์ ละคร และเพลงให้ตัวละครเป็นนักอ่าน

พงศพัศ กระบวนการอ่านอยู่ที่แรงจูงใจ ทุกคนอยากอ่านแต่สถานที่อาจไม่เหมาะ ไม่เปิดโอกาสให้ไปใช้บริการ ห้องสมุดเราทำมาเยอะ สถานที่อาจไม่ต้องใหญ่มากแต่เข้าไปแล้วอยากอ่านหนังสือมีเทคโนโลยีเสริม ไปได้ทั้งครอบครัว หากกทม.ต้องไปช่วยในการจัดพิมพ์หนังสือดีๆ ก็จำเป็น หนังสือต้องมีความหลากหลาย

วรัญชัย จัดพื้นที่สาธารณะทุกเขตที่จะให้คนมีหนังสือ อ่านฟรี วารสาร หนังสือพิมพ์อ่านฟรี ประสานงานขนส่งสาธารณะให้มีหนังสือวางไว้ให้เต็มที่ ขึ้นแล้วต้องได้อ่าน

 

คำถามจากชุมชนเขตปทุมวัน: เขตปทุมวันส่วนใหญ่เป็นที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ถ้ามีการไล่รื้อ เมื่อเป็นผู้ว่าฯ จะดูแลชุมชุนอย่างไรให้อยู่คู่เมืองใหญ่ / จะมีแนวทางจัดการปัญหาขยะอย่างไร เพราะขยะไม่มาเก็บหลายวัน

วรัญชัย เรื่องขยะนอกจากจะต้องขยันเก็บแล้วจะต้อง จัดการที่ทิ้งให้เพียงพอด้วย / ส่วนเรื่องไล่รื้อ อย่าว่าแต่ที่ทรัพย์สิน ที่ราชพัสดุ ที่เอกชน ไล่เขาแล้วมีที่ให้เขาอยู่ต่อไหม ถ้าจะให้เช่าจะเช่าอย่างไร ผู้ว่าฯ ต้องไปคุยกับเจ้าของที่ให้ได้ เพื่อหาทางออกร่วมกันที่เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย

พงศพัศ กทม.ประกอบด้วย 2,038 ชุมชน ควรมีกระบวนการแยกขยะระดับชุมชุน ปัจจุบันแยกขยะมีน้อยและขนไปไกล แต่การแยกตั้งแต่ต้น บริหารจัดการโดยคณะกรรมการชุมชน เตาเผาขยะขนาดเล็กในชุมชน อะไรทำได้ก็น่าจะทำให้เสร็จสิ้นในชุมชนเลย

เรื่องที่ดินทรัพย์สินฯ มีหลายกระบวนการ กระบวนการทางกฎหมายจะใช้หลังสุด ไม่มีใครอยากทำ เพราะเป็นพี่น้องคนจนแทบทั้งสิ้น มีหลายแห่ง กระบวนการเจรจาเป็นเรื่องสำคัญ

โฆษิต เรื่องปัญหาขยะนั้น ลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นกำเนิด ทำอย่างไรให้เกิดแฟชั่นใหม่ ใช้ถุงผ้า ถือปิ่นโต เหล่านี้เป็นเรื่องที่สร้างได้

เสรีพิสุทธิ์ ผู้ว่าฯ จะดูแลให้เกิดความเป็นธรรม เขตปทุมวันมีปัญหาที่ดินทรัพย์สิน ที่ผู้ถามใช้ภาษาว่า “ไล่รื้อ” จะทำอย่างไร เข้าใจว่าเป็นของจุฬาฯ ดูแลอยู่ ถ้ามองทั้งสองด้าน เจ้าของที่ที่ดูแลอยู่ก็ต้องดูว่าผ่านมา 40-50 ปีแล้ว สัญญาหมดแล้วจะใช้ที่ดินพัฒนาสูงสุดได้อย่างไร ผู้อยู่อาศัยก็คิดว่าอยู่มาตั้งนานแล้ว คนไทยมักติดกับพื้นที่ ไม่ค่อยคิดยอมเปลี่ยนแปลง ผมเห็นว่า กทม.มีอยู่ 230 ปีก็ไม่ไปไหนเพราะไม่พัฒนากัน เห็นใจทั้งสองฝ่าย มีข้อเสนอแนะว่าเจ้าของที่ดิน คือสำนักงานทรัพย์สิน จะต้องให้โอกาสประชาชนในการมีสิทธิอยู่ เช่า ก่อนบุคคลอื่น

สุขุมพันธุ์ 4 ปีที่ผ่านมา กทม.ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินฯ หลายเรื่อง โดยเฉพาะการทำ “บ้านมั่นคง” ร่วมกัน 30 แห่งแล้ว เรื่องไร่รื้อ เป็นห่วงและทำความเข้าใจตรงกันแล้ว และได้แบ่งที่ดินออกเป็น 3 ประเภท ถูกภาครัฐเวนคืน ส่วนนี้เป็นเรื่องกฎหมาย สำนักทรัพย์สินช่วยอะไรไม่ได้ ยกเว้นจะช่วยค่าใช้จ่าย 2.พื้นที่ซึ่งมีอาคารมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทางสำนักทรัพย์สินก็จะคงไว้เหมือนเดิม 3.ที่ดินที่มีที่พักอาศัย ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง สำนักทรัพย์สินอยากปรับปรุงไปในทางอื่น ขณะเดียวกันเราก็เข้าใจตรงกันว่าถ้ามีการปรับเปลี่ยน สำนักทรัพย์สินจะจัดหาที่พักอาศัยในรูปแบบใหม่ในพื้นที่เดียวกันให้ประชาชน

สุหฤท กฎหมายที่มีอยู่สามารถปกป้องชุมชนได้ระดับหนึ่ง ต้องดูรายกรณีว่า ผู้ถามถูกละเมิด ไม่ได้รับความเป็นธรรมในแง่กฎหมาย หรือไม่อยากเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นกรณีแรกเราต้องดูแลให้ได้รับความเป็นธรรม แต่ถ้าเป็นประเด็นอื่น เราอาจต้องเริ่มพูดคุยกัน หาจุดตรงกลางร่วมกัน

 

คำถามจากนักศึกษารัฐศาสตร์ จุฬาฯ: พัฒนาอย่างไรให้ประชาชนกรุงเทพฯ พร้อมเข้าสู่ AEC ตามทันสิงคโปร์ / ถามผู้ไม่สังกัดพรรค โอกาสที่ชนะน้อยมาก ทำไมยังสมัครรับเลือกตั้ง ใช้วิธีเหมือนชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หรือเปล่าที่ใช้เวทีผู้ว่าฯ หยั่งเสียงเพื่อลง ส.ส.

สุหฤท เรื่องพัฒนาสู่ AEC ทำพื้นฐานง่ายๆ ให้เรามีความสุขก็จะไปได้ หลักสูตรการศึกษาเราก็ยังไม่ถึงไหน มีแนวคิดโรงเรียนทางเลือกอยู่ กทม.ก็ต้องขยายแนวทางตรงนี้ เด็กถนัดอะไรต้องส่งเสริมตรงนั้น ไม่ใช่การบังคับเหมาเข่ง ไม่งั้นเรากำลังแพ้ ส่วนเรื่องการเป็นผู้สมัครอิสระนั้น ไม่ได้มาแบบชูวิทย์ ผมชื่อสุหฤท ไม่มีงบ 49 ล้านที่ กกต.กำหนด ตอนนี้ใช้ยังไม่ถึง 1 ล้านบาท แต่ที่ออกมาเพราะมันถึงเวลาที่ทุกคนต้องเริ่มลุกขึ้นมาปลดปล่อยกรุงเทพฯ ไม่ให้พรรคการเมืองเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ ไม่เช่นนั้นแล้วแล้วกรุงเทพฯจะเป็นอิสระและหลุดจากความขัดแย้งได้อย่างไร

สุขุมพันธุ์ คนมาเยือนกทม.ต้องการความปลอดภัย ความสะดวกในการเดินทาง ฯ ผู้ว่าต้องทำอยู่แล้ว แต่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติมากขึ้น ได้มีการเตรียมการแล้ว เช่น สังขยนาระบบภาษาอังกฤษชื่อถนน , สอนภาษาอังกฤษ พัฒนาทักษะการเรียนการสอนของครู , ศูนย์ฝึกอาชีพ 24 แห่ง โรงเรียนฝึกอาชีพ 10แห่ง จะมีการสอนภาษาอังกฤษ จีน มลายู ฟรี ด้วย นอกจากนั้นสอนภาษาอังกฤษให้คนขับแท็กซี่ ซึ่งได้เริ่มต้นแล้ว ต้องขยายต่อให้อาชีพอื่น , เตรียมการเฉพาะตลาดพิเศษ เช่น ตลาดพี่น้องชาวมุสลิม สร้างแอพลิเคชั่นที่ระบุรายการที่ตั้งของมัสยิดทั่วกทม., ร้านอาหารฮาลาล

เสรีพิสุทธิ์ น้องเรียนที่ไหนมา สงสัยอาจารย์ต้องสอนใหม่ ปีสองยังพอให้อภัยได้ ถ้าปีสี่จะไม่ให้อภัย ต้องศึกษาด้วยว่าผู้ว่าฯ มีความเป็นมาอย่างไร แรกเริ่มมาจากการแต่งตั้ง ถูกสั่งซ้ายหันขวาหัน รัฐบาลสั่งยังไงต้องทำ กรุงเทพฯ ถึงไม่เจริญ จากนั้นจึงได้เปลี่ยนเป็นระบบการเลือกตั้ง มี พ.ร.บ.บริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ 2528 ให้ผู้ว่ามาจากการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ ต้องปลอดจากการเมือง ไม่ให้การเมืองมายุ่งเกี่ยวก้าวก่าย “ตำแหน่งผู้ว่าฯ การเมืองไม่ควรเข้ามายุ่ง ยุ่งแล้วมันชิบหาย ไม่งั้นผู้ว่าก็ถูกดำเนินคดีหมด คุณรู้รึเปล่า ผมเสียสละมาทำงานให้พวกคุณ”

โฆษิต การปกครองท้องถิ่น เจตนารมณ์กำหนดชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ผู้บริหารสังกัดพรรค ต้องการให้หลุดจากการครอบงำของรัฐบาลกลาง มีความคล่องตัว แต่เราเผลอไผลพลาดไปเป็นสิบปี มันเลยไปเป็นอย่างนี้ และทุกจังหวัดก็ควรต้องอิสระจากการเมืองเหมือนๆ กัน ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็งประเทศไทยก็จะเข้มแข็ง การลงสมัครครั้งนี้ไม่ใช่ไม้ประดับ คนเลือกอิสระตลอด ถ้าจะดูคะแนนที่ผ่านมา มีการเลือกผู้สมัคร 5 แสนกว่าคน อีก 2 ล้านไม่เลือกใครเลยเพราะเบื่อการเมืองหรือเชื่อว่าเลือกไปก็สู้พรรคไม่ได้ แต่รวมแล้วมัน 60% ของผู้มาออกเสียง ถ้าพวกเขาเห็นศักยภาพและร่วมใจลุกขึ้นมาเลือกเราก็จะเปลี่ยนแปลงได้

พงศพัศ เราจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ในการบูรณาการ หยิบยกปัญหาหมักหมมขึ้นมาบนโต๊ะ ดูว่าหน่วยงานไหนต้องจัดการ เอาความทุกข์ร้อนของประชาชนเป็นหลัก เรากำลังก้าวสู่ AEC เราไปไม่ได้ถ้าปัญหาพื้นฐานต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไข การค้าขาย การบริการ การสร้างบุคลากรที่ต้องสร้างมารองรับ AEC ก็ต้องทำคู่ขนานกันไป แต่ถ้าเอาปัญหาประชาชนเป็นที่ตั้งไม่เกี่ยวกับการเมืองก็จะทำให้ไปได้ดีขึ้น เราอยากเปลี่ยนแปลง และพยายามคิดนอกกรอบเพื่อให้กระบวนการแก้ไขปัญหาไม่ได้ต้องมาพูดซ้ำอีกใน 4 ปีข้างหน้า

วรัญชัย ทุกวันนี้ประเทศไทยก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว เป็นได้แน่ ไม่ต้องห่วง ที่ถามว่ารู้ว่าไม่ได้มาลงสมัครทำไม อยากเรียนว่า กทม.เลือกตั้งครั้งแรกปี 2518 ยกเลิกไปเป็นแต่งตั้งในสมัยเผด็จการ แล้วหวนกลับอีกครั้งเมื่อปี 2528 ตลอดเส้นทางที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าได้แต่ผู้ว่าอิสระทั้งสิ้น ไม่เคยได้คนมาจากพรรคเลย เพิ่งมามีสังกัดพรรคเมื่อ 2547 และ 2552 เท่านั้นเอง “ตัดสินใจให้ดีครับ คิดไม่ออกก็เลือกวรัญชัยก็ได้”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook