พม่าสอดไส้ "ซีเกมส์" ยัด 8 กีฬาพื้นบ้าน ใครได้เปรียบ?
วุ่นวายกันตั้งแต่ยังไม่เริ่มเปิดฉากแข่งขัน เมื่อเจ้าบ้าน "พม่า" (เมียนมาร์) กำลังจะเปิดประตูประเทศอีกครั้ง กลับมาจัดมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ณ กรุงเนปิดอว์ ระหว่างวันที่ 11-22 ธันวาคม 2556
หลังจากเว้นวรรคการเป็นเจ้าภาพนานถึง 44 ปี ในยุครัฐบาลทหารเบ่งบาน และอาจถือเป็นบทพิสูจน์แรกของรัฐบาลที่เพิ่งแขวนป้ายว่า "ประชาธิปไตย" ก่อนที่พม่าจะก้าวเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า
แต่ยังไม่ทันไร เพื่อนอาเซียนหลายประเทศต่าง "ขวัญผวา" หลังจากมติที่ประชุมมนตรีซีเกมส์เคาะบทสรุปประเภทกีฬาที่จะชิงชัย 33 ชนิด รวม 459 เหรียญทอง
ประเด็นอยู่ที่ว่า พม่ายืนยันหน้าตายประกาศตัดกีฬาสากลที่ควรจะบรรจุ ทั้ง "เทนนิส" และ "ยิมนาสติก" ออกจากการชิงชัย แถมเจ้าภาพยังคัดเลือก "กีฬาพื้นบ้าน" ลงแข่งขันในซีเกมส์ครั้งนี้อีกเพียบ
กลายเป็นเรื่องที่สร้างความแตกตื่นในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านของการ "มี" หรือ "ไม่มี" กีฬาบางประเภทใน "เนปิดอว์ เกมส์" กระทั่งดังไกลถึงสื่อต่างประเทศยักษ์ใหญ่หลายสำนักรุมสนใจตีพิมพ์ข่าวนี้ ทั้งสำนักข่าวเอเอฟพีเสนอในมุมที่พม่าตัดกีฬาสากลออก เพียงเพราะนักกีฬาตนไม่มีหวังลุ้นเหรียญ
ขณะที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ เขียนบทความถึงภาพความปั่นป่วนในหมู่ชาติสมาชิก โดยเฉพาะมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย ที่ต่างรีบร่อนจดหมายร้องเรียนไปยังพม่ากันจ้าละหวั่น พร้อมอ้างถึงคำพูดของ "พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา" ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อไทยว่า
"การแข่งขันกีฬาครั้งนี้ ควรเป็นการสนับสนุนให้เกิดเอกภาพ แต่กลับเป็นสาเหตุแห่งการแบ่งพรรคแบ่งพวกระหว่างกันแทน"
แต่ฝั่งที่เป็นเดือดเป็นร้อนหนักคงหนีไม่พ้นคนวงใน "เทนนิส" เพราะการที่พม่ากล้าหั่นกีฬายอดนิยมที่ไม่เคยมีซีเกมส์ครั้งไหนไม่จัดแข่งเทนนิส เสมือนสายฟ้าฟาดลงตรงเก้าอี้ "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" ในฐานะนายกลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย ที่เคยประกาศกร้าวว่าไทยจองแชมป์เทนนิสซีเกมส์มาโดยตลอด ซ้ำยังสวมหมวกรองประธานสหพันธ์เทนนิสเอเชีย และยังเป็นกรรมการบริหารในสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ (ไอทีเอฟ) จำต้องกระโดดออกมารับหน้าแทนวงการเทนนิสโดยด่วน
แม้หลายฝ่ายพยายามแจงเหตุและผลอันน่าฟัง จากการที่พม่าตัดเทนนิสออก ย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาอาชีพสู่เวทีสากลอย่างแน่นอน
หันกลับมาฟังเหตุผลนิ่ง ๆ จากเจ้าภาพว่า "ยังไม่พร้อมเรื่องสนามเทนนิส และความรู้เรื่องเทคนิคของกีฬาชนิดนี้"
เป็นเหตุให้ "บิ๊กสุวัจน์" ผนึกกำลังกับ "บิ๊กอ๊อด" (พลเอกยุทธศักดิ์) และ "บิ๊กจา" (พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ) วิ่งวุ่นงัดกำลังภายในกดดันเร่งให้พม่าทบทวนบรรจุ "เทนนิส" กลับเข้ามาชิงชัยอีกครั้ง โดยมีกำหนดบินตรงไปเจรจากับพม่าเร็ว ๆ นี้
ฉะนั้นแฟนกีฬาไทยอาจยังพอมีหวังจะเห็นทีมหวดลูกสักหลาดไทยในเวทีซีเกมส์ เช่นเดียวกับแบดมินตัน, เทเบิลเทนนิส และฮอกกี้ ที่ทางสมาคมขยันวิ่งเต้นผลักดันจนพม่ายอมบรรจุกีฬาที่ไทยเสนอเป็นผลสำเร็จ
เบื้องหลังการฟาดฟันระหว่างชาติสมาชิกบนโต๊ะเจรจาส่อเค้า "แตกคอ" ระหว่างการเน้น "กีฬาสากล" ซึ่งได้เสียงสนับสนุนดังจากฝั่งไทย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, มาเลเซีย อยากให้เน้นยกระดับมาตรฐานกีฬาระดับสากลเป็นหลัก
ขณะที่ฝั่งตรงข้าม "เวียดนาม" มองต่างมุมว่า ในวันที่จะก้าวเป็น "ประชาคมอาเซียน" ก็ควรเน้นบรรจุ "กีฬาพื้นบ้าน" ของสมาชิกอาเซียนเป็นหลักมากกว่า
ตามไปดูกีฬาอาเซียนที่ว่า เข้าทางใครมากที่สุด..!
ผลลัพธ์สุดท้ายในซีเกมส์ ครั้งที่ 27 เจ้าภาพได้บรรจุกีฬาพื้นบ้านเต็มโควตา 8 ชนิด ได้แก่ เพาะกาย, เรือประเพณี, หมากรุกสากล, ปันจักสีลัต, โววีนั่ม, เปตอง, มวยไทย และโชรินจิ-เคมโป
แต่ละชื่อที่กล่าวมา มีทั้งคุ้นหู และไม่เคยได้ยินมาก่อน
ยกตัวอย่าง "โววีนั่ม" แปลตรงตัวหมายความว่า "ศิลปะป้องกันตัวของเวียดนาม" เป็นการผสมผสานกีฬาหลายชนิด
ทั้งเทควันโด มวยไทย มวยจีน วูซู แม้แต่การรำกระบอง เป็นกีฬาที่สามารถใช้มือและศอกได้ เตะหน้าได้ แต่ต้องใส่นวม และห้ามเตะต่อยขา
กติกาการเล่น แบบห้าจังหวะ คือสามารถต่อสู้ได้ห้าจังหวะ แบ่งออกเป็น 2 ยก ยกละ 3 นาที โดยจะนับคะแนนไปเรื่อย ๆ แต่ผลตัดสินเด็ดขาดอยู่ที่การทำคะแนนแบบ Wining Point คือท่ากระโดดล็อกคอฝ่ายตรงข้ามจนล้มลงมาได้ ถือว่าชนะทันที
เช่นเดียวกับกีฬาพื้นบ้านภาษาอินโดฯที่มีชื่อว่า "ปันจักสีลัต" เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เท้าเปล่า เน้นลีลาสวยงามเพื่อให้ได้คะแนน
ส่วน "โชรินจิ-เคมโป" เรียกสั้นๆ ว่า "เคมโป" เป็นศิลปะการต่อสู้ประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น มีรากฐานจากมวยจีน เทควันโด ยูโด และคาราเต้ ตัดสินแพ้-ชนะด้วยผลคะแนน ชาติที่ถนัดในกีฬาประเภทนี้ส่วนใหญ่อยู่ในแดนอิเหนา
จากการตั้งข้อสังเกตระยะหลังพบว่าซีเกมส์นิยมบรรจุ "กีฬาศิลปะการต่อสู้" มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยครั้งนี้เจ้าภาพพม่าเสนอให้มีจำนวนกว่า 10 ชนิด หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนเหรียญทั้งหมดเป็นกีฬาการต่อสู้ที่ "ตัดสินด้วยสายตา" และบ่อยครั้งผลชนะออกมาแบบ "ค้านสายตาคนดู"
วิเคราะห์จากสถานการณ์แล้ว การบรรจุกีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้จำนวนมาก ดูเหมือนจะส่งผลดีต่อเจ้าภาพพม่ามีโอกาสโกยเหรียญมาประดับศักดิ์ศรีของอดีตมหาอำนาจกีฬาย่านอาเซียน และยังมองเห็นแนวโน้ม "ส้มหล่น" เข้าทาง "เวียดนาม" และ "อินโดนีเซีย" ส่งให้มีลุ้นชิงบัลลังก์เจ้าซีเกมส์ไม่แพ้เจ้าภาพ
ส่วน "ไทย" คงต้องเผชิญวิบากกรรมโดนขัดขาตัดกีฬาสากล อย่างเทนนิสและยิมนาสติกที่ไทยเป็นตัวเต็งแชมป์ ยังต้องเหนื่อยชนิดหืดขึ้นคอกับอีกหลายประเภทกีฬาที่ใช้สายตาเจ้าบ้านตัดสิน แถมยังต้องเร่งฟิตให้พร้อมลงแข่งกับเพื่อนบ้านที่ฟิตซ้อมและฝีมือพัฒนาแบบก้าวกระโดด
ในประเด็นเรื่องสัดส่วน "กีฬาสากล" หรือ "กีฬาพื้นบ้าน" ยังเป็นเรื่องที่พอทำใจถกเถียงระหว่างกันได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น คืออย่าทำให้ "กติกาสากล" เป็นเรื่อง "กติกาพื้นบ้าน" ของเจ้าถิ่น
มิเช่นนั้น "ซีเกมส์" คงเป็นเพียงเวทีโชว์พาวเวอร์ของเจ้าภาพ ก็เท่านั้นเอง