ถ้า ปชป.แพ้!

ถ้า ปชป.แพ้!

ถ้า ปชป.แพ้!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รายงานเลือกตั้งเปรียบเทียบจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามมีค่าเท่ากับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.)

เทียบคะแนนนิยมกับคะแนนเสียงที่น่าจะได้ คาดการณ์ว่า "จูดี้" พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หมายเลข 9 พรรคเพื่อไทย มีคะแนนนำ "คุณชายหมู" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หมายเลข 16 พรรคประชาธิปัตย์อยู่ราว 100,000 แสนคะแนน

เผลอๆ พล.ต.อ.พงศพัศมีแนวโน้มจะชนะด้วยคะแนนทะลุหลักล้านทีเดียว

ผมลองมองข้ามช็อตไปหลังวันเลือกตั้ง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ศึกในวันที่ 3 มีนาคม 2556 มันหมายความว่าอย่างไร

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ มันหมายความว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา คนกรุงจำนวนมากเชื่อการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ของรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน

ผลงานของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและการเปิดโปงคอร์รัปชั่นต่างๆ โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าวนั้น ยังไม่สามารถทำให้คนกรุงเชื่อสนิทใจ

มันหมายความอีกว่า คนกรุงลืมความทุกข์ยากลำบากในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ลืมว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารงานผิดพลาดของผู้นำรัฐบาลและคณะไปแล้ว

แต่กลับจำได้ดีว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ไม่มีผลงานอะไรโดดเด่นตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

หนำซ้ำยังจำความบกพร่องในงานชิ้นสำคัญๆ ของเขาได้แม่นยำอีกด้วย

มันหมายความต่อไปว่า ชื่อเสียงและหน้าตาของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม. ไม่สามารถขายคนกรุงได้ในห้วงนี้ จึงมิอาจจูงใจกลุ่มที่ไม่ใช่ "แฟนประจำ" ออกมาเยอะๆ เพื่อเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์

การที่คนกรุงส่วนใหญ่ไม่เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ไม่ได้หมายความว่า คนส่วนมากสนับสนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ยึดประเทศไทยเบ็ดเสร็จ

แต่หมายความว่า คนกรุงให้บทเรียนพรรคประชาธิปัตย์ที่เลือกผู้สมัครผิดพลาด ไม่ยอมฟังเสียงสะท้อนจากภายนอก และสั่งสอน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ประเมินความสามารถในการบริหารงานของตัวเองสูงเกินกว่าความเป็นจริง

มองต่อไปว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ จะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ ผู้คนทั้งในและนอกพรรคจะเรียกร้องให้คณะกรรมการบริหารพรรค โดยเฉพาะผู้โหวตเลือกชายหมู แสดงความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจผิดพลาด จนเป็นเหตุให้พรรคพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ และสูญเสียที่มั่นสำคัญไปชั่วคราว

และมีโอกาสสูญเสียในระยะยาว ถ้า พล.ต.อ.พงศพัศ ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่เกิด "ผีเข้า" บริหารงานเก่งกว่าสร้างภาพ

สรุปแล้ว ไม่เสมอไปที่การเป็นรัฐบาลช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จะมีส่วนเกื้อหนุนให้ผู้ สมัครชนะ ยกตัวอย่างสมัยสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชาชนยังไม่อาจพาประภัสร์ จงสงวนชนะในปี 2551

ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่ทำให้ผู้สมัครได้รับความนิยมมากหรือน้อยต่างกัน

เช่น การที่รัฐบาลสามารถควบคุมและเชื่อมต่อสื่อกระแสหลักได้ส่วนใหญ่นั้น มีส่วนทำให้คนกรุงจดจำความผิดพลาดล้มเหลวของคู่แข่งได้มากกว่าของรัฐบาล จำเรื่องดีๆ ของรัฐบาลได้มากกว่าคู่แข่ง เป็นต้น

ขนาดปล่อยมอตโต้ "ไม่เลือกเรา เขามาแน่" หรือ "อย่าปล่อยให้ทักษิณครองเมือง" วิธีนี้ก็ยังไม่ช่วยกลบ "ข้อด้อย" เพิ่ม "จุดเด่น" ให้ชายหมูเลยแม้แต่น้อย

เมื่อรัศมีหมองๆ ของเขาเปล่งได้เท่านี้ ถึงพรรคจะงัดกลยุทธ์อะไร มันกลับไม่ช่วยทำให้คะแนนนิยมกระเตื้องขึ้น นอกจากไม่กระเตื้องแล้ว โพลก่อนเข้าโค้งสุดท้ายยังตามคู่แข่งห่างขึ้นอีก

อย่าต่อว่าต่อขานคนเมืองกรุงเลย มองและทบทวนตัวเองก่อนว่า ทำไมมีแนวโน้มแพ้แต่ไก่โห่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook