กรุงเทพฯ กำหนดได้โดยผู้ว่าฯ หรือ ประชาชน

กรุงเทพฯ กำหนดได้โดยผู้ว่าฯ หรือ ประชาชน

กรุงเทพฯ กำหนดได้โดยผู้ว่าฯ หรือ ประชาชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เลือกตั้งผู้ว่า กทม. ภายหลังกรุงเทพมหานครได้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้า รับการเลือกตั้งในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บัดนี้ กระแสการเมืองในสังคมคนกรุงพุ่งมาเกาะติดสถานการณ์กันถ้วนทั่ว ที่สำคัญสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีการจัดทำโพล นำเสนอความคิดเห็นของประชาชน ผ่านสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง

การเลือกตั้งในครั้งนี้ถือได้ว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งที่จะมีการแข่งขันกันอย่างสุดสุด โดยเฉพาะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ได้ประกาศสงครามด้วยนโยบายประชานิยมให้คนเมืองหลวงได้หลงใหลตามๆ กัน

กรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่มีเสน่ห์ ชาวต่างชาติให้ความสนใจในการท่องเที่ยวและติดตาม สถานการณ์ต่างๆ เพราะกรุงเทพฯ เป็นมหานครที่น่าเที่ยว รวมทั้งเป็นมหานครแห่งมวลปัญหาที่ติดอันดับโลก ผู้เสนอตัวเข้ามารับใช้ไม่ว่าสังกัดพรรคการเมืองหรืออิสระทุกคน ล้วนแล้วแต่มีจุดยืนและอุดมการณ์เพื่อรับใช้ประชาชนทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อถึงเวลา 18.00 น. เศษๆ ของวันที่ 3 มีนาคม 2556 คงจะพอรู้ได้ว่า ใครคือผู้ว่าฯเมืองหลวง เมืองอันดับ 1 ของประเทศไทย

วันนี้กระแสข่าวการเลือกตั้งที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทำให้บรรยากาศน่าจับตามากยิ่งขึ้น ผู้สมัครแต่ละคนพร้อมทีมงานยุทธศาสตร์ ต่างงัดกลยุทธ์มาสู้กันอย่างหนัก เรียกว่าจัดหนัก จัดเต็มกันทั้งนั้น ภาพและข่าวที่ประชาชนพบเห็นแสดงให้เห็นว่าผู้สมัครเปรียบเสมือนนักแสดงชั้น ยอด หรือเรียกว่าขั้นเทพก็ว่าได้ เพราะการแสดงท่าทีติดดิน เป็นกันเอง มือไม้ออดอ้อน ขอคะแนนเหมือนนักร้องดังในอดีตชื่อ สายัณห์ สัญญา ผู้คนให้ทำอะไร ขออะไร ผู้สมัครดังๆ ล้วนจัดให้ และรับฟังทุกเรื่อง แต่ภายหลังการเลือกตั้งผ่านไป แน่นอนบรรยากาศจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งประเด็นลักษณะนี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยต่างรับรู้กันมานานแล้ว ว่าการเมืองไทยเป็นเรื่องของการแสดง นักการเมือง (บางคน) การแสดงออกซึ่งความจริงจังและจริงใจต่อประชาชนเป็นแค่ฉากหน้านั้น

โพลของสถาบันต่างๆ ได้นำเสนอเสียงสะท้อนของประชาชนที่หลากหลาย น่าสนใจยิ่ง และเมื่อมาผนวกกับวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้สมัครแล้ว คนเมืองกรุงน่าจะนอนตาหลับ เพราะปัญหาที่รอการแก้ไข ไม่ว่าปัญหาเดิมๆ หรือปัญหาโลกแตกที่ส่งผลกระทบต่อคนเมืองหลวง กำลังจะได้รับการแก้ไขจากผู้ว่าฯคนใหม่ที่เดินบอกกล่าวกับชาวบ้านว่า จะทำและจะทำทันทีเมื่อมีโอกาส

เมื่อพูดถึงโพลของสถาบันต่างๆ ล่าสุด สวนสุนันทาโพลซึ่งเป็นโพลน้องใหม่ได้สะท้อนการมีส่วนร่วมของเยาวชน วัย 18-25 ปี ที่มีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนี้ (รายงานผลวันที่ 30 มกราคม 2556) เรื่อง ผู้ว่าแบบไหนจะโดนใจวัยรุ่น ซึ่งวัยโจ๋ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง 1,281 คน สะท้อนบางสิ่งบางส่วนที่น่าจับตาในการมีส่วนร่วมสำหรับการเลือกตั้งวันที่ 3 มีนาคม นี้ อาทิ การทราบข่าวสารเลือกตั้ง วัยรุ่นส่วนใหญ่ร้อยละ 96.60 ทราบข่าวการเลือกตั้ง และพร้อมจะไปใช้สิทธิคิดเป็นร้อยละ 66.70 ส่วนการเลือกผู้สมัครส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.50 จะเลือกผู้สังกัดพรรคการเมือง ในขณะที่คุณสมบัติที่โดดเด่นของผู้สมัคร วัยรุ่นร้อยละ 72.60 จะเลือกผู้ที่เป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต, มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีนโยบายชัดเจน ตามลำดับ

เมื่อถามว่ารูปแบบการหาเสียงที่โดนใจวัย รุ่นมากที่สุด ส่วนใหญ่ร้อยละ 68.30 มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนไม่เพ้อฝัน สามารถทำได้จริง มีความเป็นกันเองเข้าถึงประชาชน ไม่วิจารณ์นโยบายผู้สมัครคนอื่นๆ ในทางที่เสียหาย สื่อและป้ายสะดุดตาตามลำดับ และที่วัยโจ๋ฟันธงเมื่อวันที่ 27-29 มกราคม 2556 ว่าผู้สมัครที่โดนใจพร้อมจะเลือกไปเป็นผู้ว่าฯส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.90 เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตามด้วย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ร้อยละ 34.80

กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ 1,568.7 ตารางกิโลเมตร แบ่งส่วนการปกครองเป็น 50 เขต ในแต่ละเขตแบ่งเป็น แขวง มากน้อยตามขนาดพื้นที่ ประชากรมีประมาณ 5.7 ล้านคน ที่มีทะเบียนราษฎร์ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4.2 ล้านคน มีหน่วยเลือกตั้ง 6,506 หน่วย กระจายอยู่ในเขต 50 เขต ด้วยจำนวนพื้นที่ และจำนวนประชากรที่มีมาก ทำให้นานาปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ใครก็ตามไม่ว่าผู้ว่าฯหรือเทวดาก็ยากที่จะแก้ไข และปัญหาคือความท้าทายของผู้ว่าฯคนที่ 16 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาที่เปรียบเสมือนปัญหาโลกแตก ที่ผู้ว่าฯทุกคนทั้งในอดีต และกำลังจะเข้ามาใหม่ ทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้าง แต่ที่ทำไม่ได้จนถ่ายทอดมาสู่วันนี้มีมากกว่า ผลสำเร็จ ซึ่งหากมองด้วยความเป็นธรรมต่อผู้ดำรงตำแหน่งก็ต้องยอมรับและเห็นใจ เพราะบางปัญหาต่อให้ผู้ว่าฯเป็นยอดคน ก็ยากที่จะแก้ไข

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้สนใจเข้ามาเป็นผู้ว่าฯได้ แสดงวิสัยทัศน์ พร้อมนโยบายต่อประชาคมนั้น แสดงว่าเป็นสัญญาประชาคม ที่ผู้ว่าฯจะดำเนินการ ขอแต่เพียงว่าอย่าใช้สำนวนโวหารแก้ตัวเมื่อทำไม่สำเร็จอย่างผู้ว่าฯในอดีต เช่น ปัญหาฝนตก น้ำท่วม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เคยบอกว่า ฝนพันปี แม้กระทั่งปัญหาจราจร ซึ่งเป็นปัญหาอมตะนิรันดร์กาลของเมืองหลวง ผู้ว่าฯคนใหม่ อย่าแก้ตัวเหมือนอดีต รองนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะตำรงดำแหน่งในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่ประกาศว่าจะแก้ปัญหาใน 6 เดือน เมื่อทำไม่สำเร็จกลับบอกว่า ที่ผ่านมาเป็นการทดลอง

ดังนั้นความน่าเชื่อถือ ความจริงใจของผู้ว่าฯไม่ได้อยู่ที่สำนวนโวหารในการขอคะแนนนิยม แต่อยู่ที่ผลงานและการกระทำที่นำมาซึ่งความสำเร็จมากกว่า

การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ มีพลังประชาชนที่เรียกว่าเป็นพลังเงียบซึ่งมักจะนอนหลับทับสิทธิ

ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง หากในครั้งนี้ คนกลุ่มดังกล่าวออกมาอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อมอบอำนาจในการบริหารจัดการให้ผู้ว่าฯคนใหม่ เชื่อได้ว่า กระแสเสียงที่มาจากโพล ว่าใครนำใครตาม อาจจะพลิกโผก็ว่าได้ เพียงแต่ว่า ใครจะปลุกกระแส ให้พลังเงียบตื่นตัวเห็นความสำคัญ หน้าที่และบทบาทนี้ ล้วนแล้วน่าจะเป็นบทบาทของกรุงเทพมหานคร กกต. สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน สื่อมวลชน และพรรคการเมือง รวมทั้งผู้สมัครที่จะมีส่วนในการขับเคลื่อนให้ผู้มีสิทธิไปทำหน้าที่เลือก ตั้งและทำลายประวัติศาสตร์ในอดีตให้ได้

ดังนั้น ผู้ว่าแบบไหนจะโดนใจคนกรุง หรืออนาคตที่กำหนดได้ ก็อยู่ในมือของชาว กทม.ที่มีสิทธิ มีเสียง ขอให้ไปทำหน้าที่กันให้มากๆ และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ลบสถิติของผู้ไปใช้สิทธิในอดีตและจะได้ไม่อายพี่น้องประชาชนในต่างจังหวัด ที่มีการเลือกตั้งทุกครั้ง ทำสถิติเกือบ 100% มาแล้ว คนกรุงอย่าให้อายพี่น้องต่างจังหวัด


คำถามจึงย้อนกลับมาว่า คนเมืองหลวงผู้ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีความเจริญทุกด้าน ทุกคนพร้อมกับการเลือกตั้งหรือยัง ถ้ายังและไม่ไปใช้สิทธิ อย่าไปโทษใครนอกจากตนเอง ที่ไม่ร่วมกำหนด อนาคตด้วยกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook