นิด้าโพลโค้ง 5 "คุณชาย" คะแนนไล่บี้ "พงศพัศ"

นิด้าโพลโค้ง 5 "คุณชาย" คะแนนไล่บี้ "พงศพัศ"

นิด้าโพลโค้ง 5 "คุณชาย" คะแนนไล่บี้ "พงศพัศ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "คนกรุงเทพฯ กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โค้งที่ 5" โดยทำการสำรวจจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,485 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2556 ดังนี้

เมื่อถามว่าหากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 26.80 ระบุว่าจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้ว่าฯ กทม. รองลงร้อยละ 25.86 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ส่วนร้อยละ 4.58 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวศ และอีกร้อยละ 1.62 จะเลือกนายสุหฤท สยามวาลา ขณะที่ร้อยละ 0.67 จะเลือกนายโฆษิต สุวินิจจิต อย่างไรก็ตาม ยังมีคนกรุงเทพฯ ในสัดส่วนที่มากสุดร้อยละ 36.84 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ และมีเพียงร้อยละ 3.30 ที่ระบุว่าไม่ลงคะแนนเสียง

เมื่อวิเคราะห์จำแนกตามพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ มีคะแนนความนิยมสูงกว่าผู้สมัครรายอื่นๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งเหนือ ตะวันออก ฝั่งธนฯ เหนือ-ใต้ ส่วนม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีคะแนนความนิยมสูงกว่าผู้มัครรายอื่นๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ใต้ ส่วนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ กลาง นั้น พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีคะแนนความนิยมในสัดส่วนที่เท่ากัน

เมื่อถามถึงเหตุผลที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. เมื่อเรียงตามลำดับหมายเลขผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.สามารถสรุปได้ ดังนี้ (เฉพาะผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.)

เหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ คือชอบที่ตัวบุคคล ทำงานเก่ง มีวิสัยทัศน์ และมีประสบการณ์ ร้อยละ 44.50 รองลงมามีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ร้อยละ 22.00 สามารถทำงานและประสานงานร่วมกับรัฐบาลได้ดี ร้อยละ 14.75 ชอบพรรคการเมือง (พรรคเพื่อไทย) ร้อยละ 14.50 การบริหารงาน กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ดีเท่าที่ควร ร้อยละ 3.50 และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากให้โอกาสคนอื่นๆ ลองเข้ามาทำงานดูบ้าง ร้อยละ 0.75

เหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือกนายโฆสิต สุวินิจจิต คือ มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ร้อยละ 60.00 รองลงมา ชอบที่ตัวบุคคล เก่ง มีวิสัยทัศน์ มีประสบการณ์ และเป็นผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรค ในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ ร้อยละ 20.00

เหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร คือ สามารถสานต่อนโยบายเดิมได้ต่อเนื่อง ร้อยละ 32.82 รองลงมา ชอบที่ตัวบุคคล เก่ง มีประสบการณ์ ร้อยละ 30.75 ชอบพรรคการเมือง (พรรคประชาธิปัตย์) ร้อยละ 20.16 มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ร้อยละ 12.14 และเป็นการรักษาฐานคะแนนเสียงพรรคประชาธิปัตย์ เกรงว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับคะแนนความนิยมมากกว่า ร้อยละ 3.36

เหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือกนายสุหฤท สยามวาลา คือ มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ร้อยละ 41.67 รองลงมา ร้อยละ 37.50 เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค และร้อยละ 20.83 ชอบตัวบุคคล มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครายอื่นๆ เช่น นายณัฐดนัย ภูเบศร์อรรถวิช, นายสมิตร สมิทธินันท์ ร้อยละ 80.00 ชอบที่ตัวบุคคล และมีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ร้อยละ 20.00

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใครนั้น พบว่า ร้อยละ 62.16 ระบุว่า รอพิจารณาว่านโยบายใดเหมาะสม รองลงมา ร้อยละ 16.45 ระบุว่า ไม่มีใครน่าสนใจ และร้อยละ 0.55 รอดูผลโพล
นายธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้ จากผลการสำรวจของนิด้าโพลโค้งที่ 5 พบว่าคะแนนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เริ่มไล่กระชั้นคะแนนของ พล.ต.อ.พงศพัศ จากเดิมห่างกันประมาณ 2-3% เหลือเพียงไม่ถึง 1% ส่วนคะแนนของผู้สมัครรายอื่นไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่จำนวนผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเริ่มมีจำนวนลดลง

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบจากข้อมูลการสำรวจ พบว่าผู้ที่เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ส่วนผู้ที่เลือกพล.ต.อ.พงศพัศ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี เมื่อพิจารณาข้อมูลจากผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นคนรุ่นใหม่ และประกอบอาชีพในภาคเอกชน

จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร น่าจะมาแรงแซงพล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ ในช่วงโค้งสุดท้าย เพราะคาดว่าผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจ อาจมีการตัดสินใจไปบ้างแล้ว แต่ไม่บอกความนึกคิดของตนเองกับโพลออกมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook