3 การไฟฟ้า เตรียมพื้นที่ดับไฟไว้แล้ว ชี้หากเกิดวิกฤตจริง เล็งที่อยู่อาศัยย่านชานเมืองก่อน

3 การไฟฟ้า เตรียมพื้นที่ดับไฟไว้แล้ว ชี้หากเกิดวิกฤตจริง เล็งที่อยู่อาศัยย่านชานเมืองก่อน

3 การไฟฟ้า เตรียมพื้นที่ดับไฟไว้แล้ว ชี้หากเกิดวิกฤตจริง เล็งที่อยู่อาศัยย่านชานเมืองก่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ กนอ.จะเชิญผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม และผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาหารือเพื่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานช่วงวันที่ 5-14 เมษายน 2556 ว่าเป็นอย่างไร เพื่อร่วมกันกำหนดแผนรับมือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลผ่านสื่อเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลที่เป็นทางการออกมา และกนอ.ก็ยังไม่ได้รับแจ้งข้อมูลจากหน่วยงานใด ที่จะให้เตรียมตัวหรือหามาตรการรองรับ

"จนถึงขณะนี้ กนอ.ยังไม่ได้รับแจ้งจากนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมว่าจะมีการหยุดเดินเครื่องการผลิตในช่วงที่พม่าจะหยุดส่งก๊าซ" นายวีรพงศ์กล่าว

นายธนา พุฒรังษี รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าวว่า ตั้งแต่ในวันที่ 5 เมษายน ที่พม่าเริ่มหยุดจ่ายก๊าซนั้น โรงไฟฟ้ายังผลิตเหมือนเดิมโดยจะมีไฟฟ้าสำรองส่วนเกิน 760 เมกะวัตต์ จากปกติที่จะมีไฟฟ้าสำรอง 1,200 เมกะวัตต์ ดังนั้น หากโรงไฟฟ้าขัดข้องอาจเกิดปัญหาไฟฟ้าดับได้ จึงต้องเตรียม

ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและประชาชนให้ลดใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นในช่วงเวลาดังกล่าวลงจากเดิมที่คาดว่าจะมีการใช้ไฟในระบบประมาณ 26,300 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองต่ำลงไปอีก แต่กรณีที่ร่วมกันลดการใช้ไฟลง ก็จะช่วยให้การผลิตไฟสำรองเพิ่มขึ้นได้

"อย่าเพิ่งกังวลเรื่องไฟดับมากนัก ถึงแม้จะมีโอกาสก็ตาม แต่หากช่วยกันก็จะไม่มีปัญหา โดยโรงไฟฟ้าที่จะส่งผลกระทบกับกรุงเทพฯและปริมณฑล คือโรงไฟฟ้าพระนครใต้พระประแดง และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือบางกรวย จะหยุดผลิตเมื่อไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ก็จะดึงเอาไฟฟ้าที่อยู่ในระยะไกลมาแทนก็จะทำให้แรงดันไฟตกจากเดิม เดิมอุปกรณ์ไฟฟ้าจะใช้ไฟ 220 โวลต์ แต่ช่วงดังกล่าวจะมีไฟฟ้าเข้ามาได้เพียง 200 โวลต์ ก็จะส่งผลกับอุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิด เช่น หลอดไส้ เพราะแรงดันไฟจะต่ำในบางจุด" นายธนากล่าว

นายธนา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามวิธีการที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะดำเนินการ คือปรับไฟทางอื่นเข้ามาแทนเพื่อให้ไฟเป็นปกติ ที่ผ่านมา กฟน.ก็ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เป็นข่าว โดยวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้หารือเรื่องดังกล่าวกันมาแล้ว และจะหารือกันอีกครั้งในวันที่ 5 มีนาคมนี้ โดยจะหารือกันให้ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรหากเกิดไฟฟ้าดับขึ้นจริงๆ เช่น กรณีมีไฟสำรอง 700 เมกะวัตต์ แต่ใช้ไฟถึง 1,200 เมกะวัตต์ จะทำอย่างไร

ผนการที่การไฟฟ้าทุกแห่งเตรียมไว้อยู่แล้ว กรณีที่ไฟไม่เพียงพอและต้องดับไฟในบางพื้นที่จริง จะต้องรักษาสถานที่สำคัญไว้ไม่ให้ได้รับผลกระทบ เช่น โรงพยาบาล และจะปิดไฟในพื้นที่ที่ไม่มีความจำเป็นใช้ไฟแทน เช่น ชานเมืองซึ่งที่อยู่อาศัย ส่วนที่เป็นหัวใจของประเทศจะต้องรักษาเอาไว้จนถึงที่สุด

"เรื่องการปิดไฟมีการจัดสรรพื้นที่ไว้แล้ว แต่ละพื้นที่อาจจะปิดไม่เกิน 1 ชั่วโมง แล้วสลับไปปิดพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อไม่ให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยจะไม่ปิดพื้นที่เดียวไปตลอด ส่วนพื้นที่สำคัญที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น สีลม หรือ ปทุมวัน จะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน หากไม่ไหวจริง ๆ ก็จะเป็นพื้นที่สุดท้ายที่จะปิดไฟฟ้า ส่วนแรงดันไฟฟ้าจะอ่อนที่สถานีลาดพร้าว รัชดา บางกะปิ ซึ่งจะส่งผลไปถึงถนนวิภาวดีฯนั้น ทาง กฟผ.ได้ติดต่อไปยัง กฟน.ให้ย้ายโหลดไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงอื่นมาทดแทนแล้ว ดังนั้น ไฟไม่ตกไม่ดับแน่นอน ส่วนในต่างจังหวัดก็จะปิดในพื้นที่รอบนอกก่อน ส่วนในตัวเมืองจังหวัด หรืออำเภอ จะเป็นพื้นที่สุดท้ายที่จะปิดเช่นเดียวกัน" นายธนากล่าว

นายธนา กล่าวว่า พื้นที่ที่ไฟดับไม่มีผลอะไรมาก เพราะปกติเมื่อไฟฟ้าไม่พอก็ดำเนินการแบบนี้อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะเป็นการส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า เพราะปัจจุบันไทยใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้า 67-70% เมื่อก๊าซมีปัญหาก็จะหาเชื้อเพลิงชนิดใหม่มาใช้ควบคู่กันไปด้วย เพราะถือเป็นเรื่องความมั่นคง ตอนนี้มีการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าเรื่องการหยุดส่งก๊าซ ก็ยังดีที่เตรียมตัวล่วงหน้า แต่ในอนาคตหากไม่มีการเตือนจนส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับจะเกิดความวุ่นวายมากยิ่งขึ้น

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556 กฟผ.มีแผนที่จะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณจาก 29 ล้าน ลบ.ม.เป็นวันละ 35 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้นวันละ 6 ล้านลบ.ม.จำนวน 10 วัน เพื่อเสริมกำลังการผลิตไฟฟ้าที่หายไปบางส่วนจากการที่พม่าจะหยุดส่งก๊าซ และเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำในอ่างและแผนการระบายน้ำในภาพรวมและในช่วงฤดูแล้ง จะปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ลงต่ำกว่าแผนในช่วงที่ความต้องการใช้น้ำลดลง

นายบุญอินทร์ ชื่นชวลิต ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ กล่าวว่า ช่วงวันที่ 5-14 เมษายน ทั้งเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนภูมิพล จะไม่ปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นจากปกติที่เคยปล่อยอยู่ เนื่องจากเขื่อนทางด้านเหนือมีปริมาณน้ำน้อยกว่าเขื่อนทางด้านล่าง ดังนั้น จึงต้องรักษาระดับการปล่อยน้ำไว้เท่าเดิม

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นอกจากจะมีมาตรการประหยัดไฟเพื่อรองรับวิกฤตพลังงานที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังสั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดร่วมกับหอการค้าจังหวัดในการให้ข้อมูลเรื่องการประหยัดไฟและสำรวจผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย และให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรวบรวมโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องไฟฟ้าด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครแจ้งว่ามีโรงงานใดหรือบริษัทใดจะหยุดเดินเครื่องการผลิตในวันดังกล่าวเลย

นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสเตรียมแผนสำรองด้านพลังงานเป็นปกติ เพื่อให้ลูกค้ามีผลกระทบน้อยที่สุด เช่น บำรุงรักษาให้อุปกรณ์ต่างๆ พร้อมใช้งานระบบไฟฟ้าสำรองได้ตลอดเวลา และสำรองเชื้อเพลิงเพื่อใช้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าประจำชุมสาย เตรียมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเคลื่อนที่ จ่ายไฟให้กับสถานีฐานในพื้นที่ต่างๆ ประสานงานกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อบริหารการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับแผนงานของรัฐบาล

นายประเทศ ตันกุรานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานปฏิบัติการโครงข่าย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเตรียมมาตรการป้องกันและรับมือ ถ้าเกิดเหตุการณ์สุดวิสัยขึ้น โดยประสานงานตลอดเวลากับ กฟน.และ กฟภ. เพื่อให้มีการจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีฐานดีแทคอย่างต่อเนื่องในกรณีที่กระแสไฟฟ้าบางส่วนไม่เพียงพอ รวมทั้งเตรียมน้ำมันสำรองไว้ที่สถานีฐานเพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่องได้ในทันที หากมีการหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าชั่วคราว รวมถึงจัดเตรียมรถโมบายเคลื่อนที่ พร้อมเครื่องปั่นไฟเพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารในกรณีฉุกเฉินในบางพื้นที่

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร กลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มทรูเตรียมพร้อมใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ และอุปกรณ์สำรองไฟจำนวนมาก รวมถึงประสานงานกับ กฟน.และ กฟภ.ให้จ่ายไฟฟ้าไปยังสถานีฐานของทรูในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่องเท่าที่ยังสามารถทำได้ แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถดูแลได้อย่างดีในช่วงที่เกิดวิกฤตพลังงาน การใช้งานด้านโทรคมนาคมจะไม่ได้รับความเดือดร้อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook