กัสตูรี มาห์โกตา พูโลคนใหม่ ที่ประกาศพร้อมเจรจากับไทย
ฮือฮาพอสมควรสำหรับการเปิดตัวให้สัมภาษณ์ในรายการข่าวโทรทัศน์ไทยเรทติ้งสูงของ กัสตูรี มาห์โกตา ที่อ้างตัวว่าเป็น "ประธานกลุ่มพูโล" หรือ องค์กรเอกภาพเพื่อการปลดปล่อยปัตตานี (Patani United Liberation Organisation : Pulo) ในปีกของ "พูโลใหม่" หรือ ขบวนการปลดปล่อยสหปัตตานี
ไล่ดูกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่า "กัสตูรี" เป็นใคร? และมีเสียงถามไม่น้อยว่าเหตุใดจึงปล่อยให้คนที่มีจุดยืนแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากรัฐไทยออกโทรทัศน์ของประเทศไทยด้วย
"กัสตูรี" ไม่ใช่คนหน้าใหม่ในสถานการณ์ไฟใต้ แต่เป็น "คนหน้าเดิม" เขาเคยเป็นโฆษกและรองประธานกลุ่มพูโล ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเขาส่งสัญญาณถึงรัฐบาลไทยแทบทุกชุดว่า "พูโลพร้อมเจรจา"
กลางปี 2553 "กัสตูรี" ในนามของ "ขบวนการปลดปล่อยมลายูปัตตานี" หรือ "พีเอ็มแอลเอ็ม" ซึ่งอ้างว่าเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มพูโล กับ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต (ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังความรุนแรงรายวันที่ชายแดนใต้ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา) ได้ประกาศ "มาตรการหยุดยิงฝ่ายเดียว" ในพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.นราธิวาส คือ อ.ระแงะ อ.ยี่งอ และ อ.เจาะไอร้อง เป็นเวลา 1 เดือน (ระหว่างวันที่ 10 มิ.ย.ถึง 10 ก.ค.2553) เพื่อแสดงความจริงใจต่อรัฐบาลไทยเรื่องการเปิดเจรจาเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อพิสูจน์ว่า "พีเอ็มแอลเอ็ม" สามารถควบคุมพื้นที่ได้จริง
11 ก.ค.2553 "กัสตูรี" ออกมาแถลงความสำเร็จของมาตรการหยุดยิงฝ่ายเดียว แต่กลับต้องเจอกับท่าทีเฉยเมยของฝ่ายไทย ไล่มาตั้งแต่ผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ผู้นำทางทหารในพื้นที่ (พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร หรือ ผบ.พตท.) รวมทั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
หากย้อนดูผลของมาตรการหยุดยิงฝ่ายเดียว พบว่าในพื้นที่ 3 อำเภอตามประกาศ แม้จะมีเหตุรุนแรงค่อนข้างเบาบาง แต่ก็ยังเกิดเหตุโจมตีที่พุ่งเป้าไปที่ "คนของรัฐ" ทั้งอดีตตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) รวมทั้งสิ้น 4 เหตุการณ์ หนำซ้ำในอำเภออื่นๆ ที่ไม่ใช่ 3 อำเภอนี้ กลับมีสถานการณ์ความรุนแรงในระดับสูงมากห้วงหนึ่งของปี 2553...จึงไม่ชัดเจนว่าด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่ทำให้ฝ่ายไทยออกอาการเฉยเมย
การเปิดตัวให้สัมภาษณ์ของ "กัสตูรี" กับรายการข่าวโทรทัศน์ช่องดัง แม้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ออกอากาศผ่านโทรทัศน์ไทย แต่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "กัสตูรี" เปิดตัวให้สัมภาษณ์เพื่อเปิดท่าที "พร้อมเจรจา" อย่างกรณี "หยุดยิงฝ่ายเดียว" เมื่อกลางปี 2553 ก็เป็นครั้งหนึ่ง และก่อนหน้านั้นเมื่อ 29 ต.ค.2552 "กัสตูรี" ก็ให้สัมภาษณ์สื่อมาเลเซียทำนองว่า "กลุ่มพูโลตอบรับข้อเสนอของรัฐบาลมาเลเซียโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อเปิดการเจรจากับไทยเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้"
โปรดขีดเส้นใต้คำว่า "ข้อเสนอของรัฐบาลมาเลเซีย" เพราะนั่นหมายถึงว่ากลุ่มพูโลพร้อมเจรจาในบริบทที่ "มาเลเซีย" เป็นตัวกลาง และการให้สัมภาษณ์ของ "กัสตูรี" ในครั้งนั้น ก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ออกมาแสดงความเห็นผ่านสื่อว่า รัฐบาลไทยควรให้คนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสิทธิปกครองตนเองระดับหนึ่งในพื้นที่ของตนซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
"กัสตูรี" ปรากฏตัวผ่านโทรทัศน์ไทยเพียงไม่กี่วันก่อนที่ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินทางเยือนมาเลเซีย และเข้าหารือกับ นายนาจิบ ราซัก โดยมีข้อตกลงสำคัญที่เตรียมการกันเอาไว้ คือการเดินหน้ากระบวนการ "พูดคุยสันติภาพ" กับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐไทย โดยให้มาเลเซียเป็น "ผู้ประสาน" และ "ให้ความช่วยเหลือ"
การปรากฏตัวของ "กัสตูรี" เกิดขึ้นหลังจาก "คณะล่วงหน้า" ของทางการไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพิ่งเดินทางกลับจากมาเลย์ หลังบรรลุข้อตกลงในระดับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการเดินหน้ากระบวนการ "พูดคุยสันติภาพ" โดยให้เลขาธิการ สมช.ไทย กับหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงในระดับใกล้เคียงกันของมาเลเซียร่วมกันเป็นเจ้าภาพ
ที่น่าสนใจก็คือ "กัสตูรี" ปรากฏกายในฐานะ "ประธานกลุ่มพูโล" ทั้งๆ ที่สถานะของเขายังคงเป็นที่น่ากังขา เพราะแถลงการณ์เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2554 ที่อ้างว่าคณะกรรมการกลางพูโลมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกตัวเขาขึ้นเป็นประธานคนใหม่นั้น ถูกตอบโต้ว่าเป็นเรื่องหลอกลวงจากแกนของพูโลอีกฟากหนึ่งที่นำโดย นูร์ อับดุลเราะห์มาน และ ลุกมัน บิน ลิมา สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพขององค์กรพูโล นับตั้งแต่ ตนกูบีรอ กอตอนีรอ ผู้ก่อตั้งกลุ่มพูโล เสียชีวิตไปเมื่อปี 2551
การเปิดตัวของ "กัสตูรี" และคำประกาศ "พร้อมเจรจา" สอดรับกับท่าทีของรัฐบาลไทยที่กำลัง "ตั้งหลักเจรจา" อย่างขะมักเขม้น ในขณะที่ "แนวร่วมรุ่นใหม่" ซึ่งเป็นวัยรุ่นและคนหนุ่มที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเดือดดาลกับกรณี 16 ศพจากเหตุการณ์บุกโจมตีฐานปฏิบัติการนาวิกโยธินที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และประกาศชัดเช่นกันว่า...ไม่เจรจา!
โปรดติดตามสถานการณ์จากปลายด้ามขวานนับจากนี้...