พงศพัศ กับ สถานะ ′อภิสิทธิ์′
ยังไม่ทันจะถึงวันที่ 3 มีนาคม ก็เริ่มมีน้ำเสียงเรียกร้องแล้วว่า หากหมายเลข 16 ต้องพ่ายแพ้แก่หมายเลข 9 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องพิจารณาตัวเอง
เป็นข้อเรียกร้องอันมาจากอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่ง เหตุผล 1 เป็นไปตามมารยาททางการเมือง เหตุผล 1 ซึ่งสำคัญมากกว่าเพราะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบันยืนยันในการส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่แกนนำจำนวนไม่น้อยเห็นว่าน่าจะส่งบุคคลอื่น
น่าสนใจเป็นอย่างมากก็ตรงที่แกนนำที่ไม่เห็นด้วยกับหัวหน้าพรรค คือ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จึงตลอดเวลาหาเสียงไม่เคยมีใครพบหน้าเลขาธิการพรรคอยู่ในทีม
การยืนยันและการลงมติส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. จึงเท่ากับเป็นมติอันนำไปสู่ความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ หากในที่สุด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แพ้ จึงไม่เพียงแต่เป็นความพ่ายแพ้ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในทางส่วนตัว หากแต่หมายถึงความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์โดยองค์รวมในทางการเมืองจำเป็นต้องแสดงมารยาท
ถามว่าทั้งๆ ที่ยังเหลือเวลาอีก 1 สัปดาห์ ผลการเลือกตั้งจึงจะปรากฏ เหตุใดจึงมีการเสนอประเด็นในลักษณะข้ามช็อตไกลถึงเพียงนี้
ตอบ 1 เป็นปัญหามาจาก ?ภายใน? ของพรรคประชาธิปัตย์
ตอบ 1 เป็นผลสะเทือนอันเนื่องมาจากการสำรวจของโพลสำนักต่างๆ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
แม้กระทั่งนิด้าโพล แม้กระทั่งบ้านสมเด็จโพลล์
ขณะที่ไม่ว่าสวนดุสิตโพล ไม่ว่าเอแบคโพลล์ ไม่ว่ากรุงเทพโพลล์ ซึ่งมีอายุยาวนานเก๋ากึ๊กอยู่ในวงการสะท้อนถึงคะแนนและความนิยมที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หมายเลข 9 มีความเหนือกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หมายเลข 16 อย่างมีนัยสำคัญ
เป็นนัยสำคัญที่ระยะห่างทิ้งกันห่างไกลเป็นลำดับ
เป็นนัยสำคัญที่คะแนนและความนิยมของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เป็นนัยสำคัญที่คะแนนและความนิยมของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลดลงและลดลงอย่างต่อเนื่อง
หมายเลข 9 ขาขึ้น หมายเลข 16 ขาลง
เช่นนี้ตะกอนอันเคยนอนก้นอยู่ภายในพรรคประชาธิปัตย์จึงถูกกระพือขึ้นมาอยู่เหนือน้ำอย่างเห็นได้ชัด
กระแสอันเนื่องแต่กระบวนการเลือกตั้งในวันที่ 3 มีนาคม จึงเป็นกระแสอันสัมพันธ์กับอนาคตทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์อย่างแนบแน่น
คล้ายกับเป็นผลสะท้อนจากกรณีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เป็นผลสะเทือนและเกี่ยวเนื่องกับการดำรงอยู่ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคมากกว่า
หากมองผ่านยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยจะเห็นได้ถึงความขัดแย้ง
ต่อกระบวนการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยก็คือ ทำอย่างไรจะรักษาสถานะอันเป็นตัวแทนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นจริง
เพราะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร คือจุดอ่อน
ภายในจุดอ่อนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ย่อมเป็นโอกาสให้กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในฐานะตัวแทนพรรคเพื่อไทย
กระนั้น ลักษณะย้อนแย้งอย่างแหลมคมยิ่งในทางการเมืองย่อมสัมผัสได้จาก
สภาวะอันเป็นจุดอ่อนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ในเวทีเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก็ดำเนินไปเช่นเดียวกับ สภาวะอันเป็นจุดอ่อน
ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
การอยู่ในฐานะหัวหน้าพรรคของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเป็นผลดีแก่พรรคเพื่อไทย
ผลสะเทือนจากความพ่ายแพ้ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จึงดำเนินไปอย่างสลับซับซ้อนทาง 1 ทำให้เป็นโอกาสของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ขณะเดียวกัน ทาง 1 กลับจะกลายเป็นผลเสียทางการเมืองต่อพรรคเพื่อไทยในกาลข้างหน้าเพราะหมายถึงแนวโน้มที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จักต้องจรจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค
เกาะติด เลือกตั้งผู้ว่า กทม 2556 ที่นี่ >>