เคาะแล้ว! “พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน” กิตติรัตน์ เผย มาตรฐานสูงสุดเท่าที่เคยมีมา 50 ปี ใช้หนี้หมด
วันนี้ (19 มีนาคม 2556) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเสร็จการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงความคืบหน้า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านว่า ร่างกฎหมายที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง เพื่อการกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านมาลงทุน ได้ผ่านการพิจารณาของครม. แล้ว
นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าว มีลักษณะสำคัญต่างจาก พ.ร.บ.การกู้เงินปกติ เพราะที่มีเอกสารแนวท้ายกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ว่านำเงินจำนวนเท่าไหร่ทำอะไรบ้าง และร่างฯ ที่ส่งยังรัฐสภามี เอกสารรายละเอียดโครงการและงบประมาณแนบท้ายไปด้วย
นอกจากนั้น นายกิตติรัตน์ยัง ระบุด้วยว่า การออกเป็น พ.ร.บ. เงินกู้ จะทำให้เกิดความมั่นใจ เพราะในอดีตที่ใช้งบประมาณปกติไม่มีความแน่ชัดว่าปีต่อไปจะได้รับงบประมาณต่อหรือไม่ ทั้งนี้ งบประมาณจำนวน 2 ล้านล้านบาทนั้น จะใช้กับโครงการที่แนบท้ายมาใน พ.ร.บ. เท่านั้น ไม่ใช้ลงทุนโครงการสาธารณูปโภคอย่างอื่น โดยจะเป็นการลงทุนในด้านการขนส่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดพลังงานและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมกับ ยืนยันว่าหนี้สาธารณะไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
ส่วนเรื่องการชำระหนี้นั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า มีแนบในเอกสารเรื่องการชำระหนี้ที่จะส่งให้รัฐสภาพิจารณา โดยใน 10 ปีแรกที่ยังเป็นการลงทุนก่อสร้างจะใช้หนี้ เฉพาะดอกเบี้ยไม่ใช้หนี้ส่วนเงินต้น ส่วนในปีที่ 11 จะใช้หนี้ในส่วนของเงินต้นปีละ 20,000 ล้านบาท เมื่อเงินต้นน้อยลง ดอกเบี้ยก็จะน้อยลงทำให้การใช้หนี้ในระยะยาวค่อยๆ หมดเร็วขึ้น
นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อไปว่า คาดว่าแล้วจะชำระเงินหมดก่อน 50 ปี ซึ่งทรัพย์สินที่สร้างมา จะอยู่กับประเทศไปอีก 100 ปี พร้อมกับ ยืนยัน ว่า พ.ร.บ. นี้มีมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เคยมีมา เพราะแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่โจมตี พ.ร.บ.เงินกู้ ของรัฐบาล ยังเคยกู้โดยอาศัย พ.ร.ก. ซึ่งไม่มีความรัดกุมเท่านี้ โดยจะเน้นการกู้เงินในประเทศมากกว่าต่างประเทศ
ส่วนประเด็นเรื่องราคากลางในการก่อสร้างนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ยืนยันว่าการประเมินราคากลางในการก่อสร้างทำอย่างโปร่งใสที่สุด สภาพคล่องส่วนเกินในประเทศสูงและวินัยทางการคลังในโครงการนี้สูง