สุรพงษ์ลั่นพอใจแจงศาลโลกปัดรบ.ฮั้วเขมร
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี งดจัด "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน" และได้มอบหมายให้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์มาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ หลังเสร็จสิ้นการให้การต่อศาลยุติธรรม หรือ ศาลโลก กรณีปราสาทเขาพระวิหาร โดย นายสุรพงษ์ มั่นใจ และพอใจกับภาพรวมของการชี้แจงต่อศาลโลก ขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ช่วยกันเสนอแนะข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อช่วยกันรักษาประโยชน์ ยืนยัน การที่รัฐบาลใช้คณะต่อสู้เดิม ไม่ใช่การพยายามป้ายความผิดให้รัฐบาลเก่าเพราะไม่เคยเอาเรื่องการเมืองมารวมกับเรื่องของประเทศโดย นายวีรชัย ยืนยัน ที่ผ่านมาทุกรัฐบาล เคยเจรจากับกัมพูชาว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก จะทำร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ จึงทำให้การให้การในครั้งนี้ เราเน้นในส่วนของพื้นที่เขตแดน นอกกรอบตามคดีเดิมและเรากับกัมพูชา ไม่เคยมีความขัดแย้งกัน หลังมีการพิจารณาของศาลโลก เมื่อปี 2505 ซึ่งการที่ กัมพูชา มาเปลี่ยนใจ ในปี 2550 นั้นเป็นเรื่องยากต่อการยอมรับ 'สุรพงษ์' ย้ำ ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ยังดีเช่นเดิมนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์มาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ผ่านรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน หลังเสร็จสิ้นการให้การต่อศาลยุติธรรม หรือ ศาลโลก กรณีปราสาทเขาพระวิหาร โดย นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ได้มีการพูดคุยกันอยู่ตลอด ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา จะยังคงดีเหมือนเดิม โดยภายใน 2 - 3 เดือน ที่จะถึงนี้จะมีการประชุมร่วมกันเรื่องเศรษฐกิจตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา วอนกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยอย่านำการเมืองมาเล่นกับการต่างประเทศ ขอให้เข้าใจว่า รัฐบาลทำเพื่อประชาชนและประเทศชาติทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์มาขอบคุณและชมเชยทีมงานทุกคนแล้ว ด้าน นายวีรชัย ยืนยันการทำงานในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนดีจากทุกภาคส่วน จึงอยากให้ถือว่าการต่อสู้คดีในครั้งนี้เป็นการร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่ายและขอให้ประชาชนศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจจากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศและศาลโลก เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้นเมื่อมีผลการตัดสินออกมาในช่วงปลายปี ปชป.ฉะรบ.สวมรอยความดีใส่ตัว-ชมทูตทำดี นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวชื่นชม นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และคณะทนาย ที่สามารถหักล้างคำแถลงการณ์ของประเทศกัมพูชาได้ โดยเฉพาะนางสาวอลิน่า มิรอง ที่มีประเด็นใหม่ชี้แจงว่า แผนที่ที่ประเทศกัมพูชาใช้ในคำตัดสิน ตั้งแต่ปี 2505 นั้น ใช้ไม่ได้ ทำให้แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน หมดความน่าเชื่อถือไป ส่วนภายหลังจากนี้ รัฐบาลจะต้องเตรียมตัวรองรับผลคำตัดสินจากศาลโลก โดยประเมินคำพิพากษาให้มีหลากหลายรูปแบบว่า ประเทศไทยจะสามารถปฏิบัติตามได้มากน้อยแค่ไหน และท่าทีของประเทศกัมพูชาจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะต้องมีแนวทางที่จะประคองสถานการณ์ชี้แจงต่อประชาชนนอกจากนี้ นายชวนนท์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีของรัฐบาล ที่ก่อนหน้านี้พยายามโยนความรับผิดชอบให้กับพรรคประชาธิปัตย์ หากแพ้คดี แต่ขณะนี้ กลับมีท่าทีนำว่าเป็นผลงานของรัฐบาล เมื่อเห็นว่า ทีมทนายทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้ง เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่งตั้งให้ นายวีรชัย กลับมาเป็น กรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี อีกครั้ง พท.ชมทนายฝ่ายไทยสู้ศาลโลกชี้ถูกทางแล้ว นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย ขอยกย่องชื่นชม นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และทีมทนายความ ที่ทุ่มเทในการต่อสู่คดีปราสาทพระวิหารปกป้องดินแดนอย่างเต็มที่ สุดกำลัง แม้รัฐบาลจะถูกสบประมาทจากฝ่ายต่อต้านมาตั้งแต่แรกว่า ไม่สู้ แต่วันนี้ รัฐบาลก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ทั้งนี้ ก็ได้แต่คาดหวังว่า ไม่มีกระบวนการที่ยุติธรรมใด ที่ตัดสินให้เกิดความวุ่นวาย และหวังว่าการตัดสินของศาลโลกในครั้งนี้ จะทำให้ทั้ง 2 ประเทศ อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ผลการตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไร ก็พร้อมน้อมรับ 'นพดล' โต้สื่อ 'สมัคร' ไม่ได้ยกที่ 4.6 ให้เขมร นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า มีสื่อฉบับหนึ่งเขียนถึงคำแถลงการณ์ร่วม ที่ "รัฐบาลสมัคร" ทำ ว่าเป็นการยกพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ให้กัมพูชา ซึ่งตนเองอ่านแล้วรู้สึกสลดใจในความเท็จดังกล่าว และขอยืนยันว่า ข้อความเหล่านั้นเป็นความเท็จ เพราะคำแถลงการณ์ที่ได้ร่วมทำขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้กัมพูชาได้พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งไม่ใช่เป็นการยอมให้กัมพูชาได้พื้นที่ไป พร้อมแจงข้อเท็จจริง 7 ข้อ ประกอบด้วย 1. หากกัมพูชาได้พื้นที่ทับซ้อนจริงจะมายื่นตีความในศาลโลกเพราะเหตุใด 2. ทุกคนทราบดีว่า กัมพูชาต้องการทั้งพื้นที่และตัวปราสาท ที่ทุกรัฐบาลต่างไม่ยอมในเรื่องนี้ 3. รัฐบาลของ นายสมัคร สุนทรเวช สนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น ไม่เคยสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่ทับซ้อน 4. ทนายความฝ่ายไทยก็ได้นำคำแถลงการณ์ร่วมไปใช้ในการต่อสู้คดี 5. หากคำแถลงการณ์ร่วมเป็นผลเสีย เหตุใดข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ กองทัพ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และ ครม.สมัยรัฐบาลสมัคร เห็นว่าเป็นประโยชน์และเห็นชอบร่วมกัน 6. หากไม่มีคำแถลงการณ์ร่วม กัมพูชาจะสามารถนำพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ และ 7. ไม่มีคำให้การของกัมพูชาช่วงไหนที่แสดงให้เห็นว่า ได้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ไปตามคำแถลงการณ์ร่วม