ฮือฮา "ชายอิหร่าน" แห่ "แต่งหญิง" หวังกระตุ้นความเท่าเทียมทางเพศ
ขณะนี้ในในโลกสังคมออนไลน์ของอิหร่านได้เกิดปรากฎการณ์ชาย-หญิง แต่งตัว "ข้ามเพศ"เพื่อรณรงค์ให้สังคมอิหร่านตระหนักถึง "ความเท่าเทียมทางเพศสภาพ" และวิจารณ์การทำงานของตำรวจอิหร่าน หลังตั้งขบวนรถแห่ประจาน ชายชาวอิหร่าน ที่ "แต่งหญิง"
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ตำรวจอิหร่านได้ตั้งขบวนรถตำรวจแห่ ซามาน ราโซลพอล ซึ่งถูกจับกุมในฐานความผิดกระทำการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ เนื่องจากเขาแต่งกายในชุดของหญิงสาวตามประเพณีของชาวเคิร์ด ซึ่งการกระทำดังกล่าวของตำรวจอิหร่าน เท่ากับเป็นการจงใจสร้างความอับอายให้แก่ราโซลพอล
การกระทำของตำรวจในครั้งนี้ได้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนในอิหร่านโดยไม่กี่วันหลังจากนั้นบนถนนของอิหร่านก็คราคร่ำไปด้วยกลุ่มผู้ประท้วงรวมไปถึงในโลกออนไลน์ก็ล้วนแต่เต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของตำรวจอิหร่าน
ด้านองค์กรรณรงค์สิทธิสตรีในชุมชนมาริวาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประท้วงด้วยการนำผู้หญิงกว่าร้อยคนเดินขบวนโดยยึดหลักการดื้อแพ่งต่อกฎหมายหรือการกระทำของรัฐที่ไม่เป็นธรรมเพื่อรณรงค์ให้สังคมอิหร่านตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศสภาพ
ไม่นานหลังจานั้นก็เกิดกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า"ชายชาวเคิร์ดเพื่อความเท่าเทียม" ร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มองค์กรรณรงค์สิทธิสตรี แต่กลุ่มนี้เลือกจะใช้พื้นที่ในโลกโซเซียลเน็ตเวิร์คเคลื่อนไหวแทนท้องถนน
ซึ่งพวกเขาได้ถือข้อความว่า "การเป็นผู้หญิงไม่ใช่เครื่องมือเพื่อสร้างความอับอายหรือลงโทษ" พร้อมกับถ่ายรูปตนเองสวมใส่เครื่องแต่งกาย"ข้ามเพศ"ใส่เครื่องแต่งกายที่ตรงข้ามกับเพศตามธรรมชาติ ซึ่งสื่อถึงกรณีการลงโทษ ซามาน ราโซลพอล
ขณะนี้กลุ่ม "ชายชาวเคิร์ด เพื่อความเท่าเทียม" ในหน้าเพจเฟซบุ๊คได้รับความสนใจอย่างมาก และมีผู้กดไลค์แล้วกว่า 10,000 คน หลังจากที่เริ่มเคลื่อนไหวในวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การสร้างความอับอายต่อสาธารณะ อย่างกรณีของ ราโซลพอลซึ่งถูกแห่ไปรอบเมือง ถือเป็นวิธีการ "ปกติ" ที่ใช้ลงโทษ "ตัวปัญหา" ที่มีพฤติกรรมซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในผู้ประท้วง กล่าวว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกและเป็นประวัติการณ์ที่ทางการอิหร่านถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการที่แห่ประจานชายที่แต่งหญิงเพื่อสร้างความอับอายให้แก่เขา
ภายใต้การรณรงค์ของกลุ่ม"ชายชาวเคิร์ดเพื่อความเท่าเทียม"มีผู้ชายกว่า 150 คน ซึ่งได้ถ่ายรูปตนเองที่ "แต่งหญิง" และที่น่าสนใจมีสมาชิกรัฐสภาอิหร่านจำนวน 15 คนร่วมลงนามในจดหมายต่อกระทรวงยุติธรรมของอิหร่าน เพื่อประณามบทลงโทษที่เปรียบได้กับเป็นการสร้างความอับอายให้แก่สตรีมุสลิม
อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่มีการกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการแก่สาธารณะชนต่อการกระทำดังกล่าว จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานด้านความมั่นคง